แม้พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทยจะแปลกใหม่สำหรับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศนี้โดยมีพิธีอุทิศเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่รากเหง้าของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหยั่งลึก — นานกว่าครึ่งศตวรรษ — และก้าวข้ามคนสี่รุ่นในหลายครอบครัว
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายพอใจกับอดีตที่ออกดอกออกผลตั้งแต่ศาสนจักรจัดการประชุมครั้งแรกในปี 1968 จนถึงคำขอจีบในปี 1978 ที่บอกว่า “ผมเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” และวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมองเห็นอนาคตที่สดใสจากผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคู่หนุ่มสาวที่กำลังเตรียมผนึกในพระวิหารกรุงเทพแห่งใหม่เป็นคู่แรกๆ ไปจนถึงพ่อแม่ของลูกที่เป็นสมาชิกรุ่นสี่
สิ่งที่ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปและมองไปข้างหน้าคือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันนี้ — วันอาทิตย์อุทิศพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทยโดยเอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ต่อไปนี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และความคาดหวังจากวิสุทธิชนคนไทย
‘ผมเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้าย’
หลังจากส่งจดหมายและภาพถ่ายสอดแทรกข่าวสารพระกิตติคุณถึงกันเพื่อพยายามทำความรู้จักกันและจีบกันนานหนึ่งปี สมจิตร จ้อยสระคูก็แต่งชุดดีที่สุดไปแนะนำตัวครั้งแรกกับภรรยาในอนาคตของเขาในปี 1978 ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งห่างจากกรุงเทพ 10 ชั่วโมง คำแรกที่ออกจากปากของเขาคือ “ผมเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้าย”
และตอนนี้ 45 ปีให้หลัง เกษร จ้อยสระคูคิดว่าคำพูดนั้นจากคนในประเทศที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธฟังดูแปลกๆ
“เธอไม่รู้เลยว่าคำพูดนั้นหมายความว่าอย่างไร” สมจิตร จ้อยสระคูบอก “หมายความว่าผมเป็นคริสเตียน”
ในฤดูใบไม้ผลิปี 1976 สมจิตรเป็นคนขับแท็กซี่ที่รับคนต่างชาติสองคนบนถนนในกรุงเทพ ประเทศไทย ไม่นานก็ทราบว่าทั้งคู่เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย — เขาเรียนพระกิตติคุณเกือบทันทีและยอมรับคำเชื้อเชิญให้รับบัพติศมาปลายปีนั้น
อันที่จริงเขารับบัพติศมาในวันคริสต์มาส เขาขึ้นจากอ่างบัพติศมาแล้วตรงดิ่งไปแสดงเป็นนักปราชญ์ในละครเรื่องการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดที่สาขาจัดทันที เขาเป็นบุตรคนโตในบรรดาพี่น้องแปดคน ครอบครัวเปลี่ยนใจเลื่อมใสภายหลัง — รวมทั้งคุณพ่อของเขา ทำให้สมจิตรกับภรรยากลายเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นสอง
ปีหลังจากบัพติศมา สมจิตรจ้อยสระคูเริ่มคบหาทางไกลกับหญิงสาวคนหนึ่ง — เกษร แสงงาม — จากศรีสะเกษ ห่างจากกรุงเทพไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 10 ชั่วโมง ลุงของเขาที่อาศัยอยู่แถวนั้นเป็นคนแนะนำให้รู้จักกัน
ปีแรกทั้งสองทำความรู้จักกันทางจดหมายและภาพถ่ายเป็นครั้งคราวเท่านั้น “พ่อสอนพระกิตติคุณให้กับแม่ผ่านจดหมายรัก” อภิชาติ จ้อยสระคูบุตรชายของพวกเขาอธิบาย
ปีต่อมาสมจิตร จ้อยสระคูแต่งชุดวันอาทิตย์เดินทางไปศรีสะเกษเพื่อเอาพระคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาใหม่และพระคัมภีร์มอรมอนที่คั่นตรงแอลมา 34 ไปให้เกษร การสวดอ้อนวอนทำให้เธอรู้สึกสบายใจขึ้น และช่วยให้ครอบครัวเธอแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ได้
ทั้งสองแต่งงานกันที่ศรีสะเกษในเดือนพฤศจิกายนปี 1980 ย้ายมาอยู่กรุงเทพอีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง และเกษร จ้อยสระคูรับบัพติศมาวันที่ 20 ธันวาคมปี 1980
สิบปีต่อมา ครอบครัวจ้อยสระคูกับบุตรสองคนอยู่ในบรรดาสมาชิกคนไทยกลุ่มแรกราว 200 คนที่เดินทางไปพระวิหารมะนิลา ฟิลิปปินส์เพื่อประกอบศาสนพิธีพระวิหารครั้งแรก
อภิชาติ จ้อยสระคูอายุ 6 ขวบตอนครอบครัวผนึกในพระวิหารมะนิลา “พี่สาวปล่อยผมไว้คนเดียวในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และผมร้องไห้” เขานึกถึงเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องเดียวที่จำได้เกี่ยวกับการเดินทางคราวนั้น
สำหรับพ่อแม่ของเขา การไปพระวิหารครั้งนี้มีความหมาย “ผมรู้ว่านั่นเป็นเวลาสำคัญมากในชีวิตเรา และเราปรารถนามานาน” สมจิตร จ้อยสระคูกล่าว
เกษร จ้อยสระคูเสริมว่า “เราเรียนเรื่องพระวิหารมาตลอด แต่คิดว่าเราคงไม่มีโอกาสไป — เพราะใช้เงินเยอะมาก แต่เราตั้งใจจะไปให้ได้”
เขาออกจากงานที่บางครั้งต้องทำวันอาทิตย์ เงินชดเชยจากตรงนั้นทำให้พวกเขามีเงินออมเพิ่ม ต่อจากนั้นก็มาช่วยภรรยาขายอาหารและเริ่มธุรกิจครอบครัว
การเสียสละเทียบไม่ได้กับพรและประโยชน์ที่ได้รับ “สิ่งสำคัญคือคำมั่นสัญญาว่าเราจะรักษาพันธสัญญาและการดำเนินชีวิตของเราหลังออกจากพระวิหาร” เกษร จ้อยสระคูกล่าว เธอกับสามีจะเป็นเจ้าหน้าที่พระวิหารในพระวิหารกรุงเทพทันทีที่เริ่มเปิดให้นมัสการและทำศาสนพิธีพระวิหารในสัปดาห์ต่อจากพิธีอุทิศ “ฉันจะรับใช้ในพระวิหารตลอดชีวิตที่เหลือ — นานเท่าที่ฉันจะทำได้”
การเริ่มงานสอนศาสนาในปี 1968
แลร์รีย์ ไวท์ยืนตรงลานนอกพระวิหารระหว่างทางเข้าพระวิหารกับรูปสลักพระคริสต์ในวันก่อนการอุทิศพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย ต่อจากนั้นมีคนแนะนำเขากับเอ็ลเดอร์ราสแบนด์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นที่มารวมกันถ่ายรูปหมู่
ไวท์เป็นผู้สอนศาสนาหนึ่งในหกคนแรกที่รับใช้ในกรุงเทพปี 1968 ประธานคณะเผยแผ่เซาเธิร์นฟาร์อีสต์เป็นผู้ส่งพวกเขาที่มีความรู้เบื้องต้นในภาษาจีนมาประเทศไทยเพื่อเริ่มแบ่งปันพระกิตติคุณเป็นภาษาไทย พวกเขาเป็นกลุ่มแรกใน 110 กว่าปีตั้งแต่ประธานบริคัม ยังก์ส่งผู้สอนศาสนามาสยามในปี 1854 ผู้สอนศาสนาอยู่ที่นี่แค่สี่เดือนก่อนกลับบ้านเพราะอุปสรรคด้านภาษา
“ผมจำได้ว่าในปี 1968 เราอยู่ห่างจากที่นี่ไม่มากนัก” เขาเล่า เพราะเขากับเจนิซ ไวท์เดินทางจากบ้านที่ซอลท์เลคซิตี้มาร่วมพิธีอุทิศในกรุงเทพ “การประชุมครั้งแรกของเราในวันที่ 17 มีนาคมปี 1968 มี 13 คนเข้าร่วม — สมาชิกหนึ่งในสองคนในประเทศตอนนั้นเข้าร่วมด้วย”
พวกเขาไม่มีพระคัมภีร์หรือหนังสือใดๆ ของศาสนจักรเป็นภาษาไทย — ไม่มีแม้กระทั่งชื่อเรียกศาสนจักรในภาษาไทย ไวท์ผู้ซึ่งต่อมารับใช้เป็นประธานคณะเผยแผ่ในประเทศไทยเสริม “แต่ไม่นานนักเราอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่ได้พบและพูดคุยกับผู้หญิงที่กลายเป็นผู้แปลหลักของพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา และพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า — บ้านของเธออยู่ห่างจากจุดที่ประธานคณะเผยแผ่ใช้เป็นที่พักอาศัยประมาณ 300 เมตร”
คำสัญญาเรื่องพระวิหาร
ทิพรัตน์ กิจสวัสดิ์วัย 76 ปี เข้าร่วมศาสนจักในปี 1977 เวลานั้นมีหนึ่งสาขาและอาคารประชุมหนึ่งหลังในกรุงเทพ เขาพักอยู่ในบ้านของนายจ้างที่มีบุตรชายเรียนอยู่ในสหรัฐและหาโอกาสติดต่อกับคนอเมริกันในกรุงเทพ นายจ้างเชิญผู้สอนศาสนาเข้ามาในบ้าน — เขากับครอบครัวไม่เข้าร่วมศาสนจักร แต่ทิพรัตน์เข้าร่วม
นานกว่าสี่ทศวรรษนับจากนั้นที่เขารับใช้ในการเรียกมากมายในสาขา ท้องถิ่น วอร์ด และสเตค — บางการเรียกรับใช้หลายครั้ง เช่น ประธานสาขาและที่ปรึกษาของคณะเผยแผ่ เขาได้รับเรียกเป็นประธานสเตคคนแรกของประเทศด้วยคราวจัดตั้งสเตคกรุงเทพ ประเทศไทยในเดือนมิถุนายนปี 1996 โดยเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ในระหว่างที่เขารับใช้เป็นประธานสเตค ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์มาเยือนประเทศไทยและสัญญากับสมาชิกว่าสักวันหนึ่งประเทศนี้จะเป็นที่ตั้งของพระนิเวศน์ของพระเจ้า “แต่ผมไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน” ทิพรัตน์กล่าว
เมื่อพระวิหารมะนิลา ฟิลิปปินส์ได้รับการอุทิศในปี 1984 และเริ่มเปิดดำเนินการ ประธานคณะเผยแผ่หลายรุ่นเริ่มช่วยให้สมาชิกหลายกลุ่มเดินทางไปประกอบศาสนพิธีพระวิหารที่นั่น รวมทั้งเอ็นดาวเม้นท์และการผนึก ทิพรัตน์ช่วยให้คุณพ่อของเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส “และผมพาพ่อไปผนึกด้วย” เขากล่าว
หลังจากอุทิศในปี 1996 พระวิหารฮ่องกง ประเทศจีนกลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้คู่สามีภรรยากับครอบครัวเริ่มเดินทางไปรับ
ศาสนพิธีพระวิหารของตน เช่น ครอบครัวกิจสวัสดิ์พาบุตรสาวสองคนไปผนึกกับครอบครัวของพวกเธอในพระวิหารฮ่องกง สมัยเป็นประธานสเตค ทิพรัตน์ กิจสวัสดิ์ได้ไปพระวิหารฮ่องกงทุกปีที่รับใช้เพราะมีการอบรมผู้นำภาคประจำปีกับอัครสาวกในเมืองนั้น
เขามีสมุดเหมือนบันทึกส่วนตัวเกี่ยวกับการรับใช้ศาสนจักรของเขาและรายชื่อคนที่เรียนพระกิตติคุณตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาแต่ไม่เคยเข้าร่วมศาสนจักร และรายชื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสครั้งเดียวแต่หลังจากนั้นไม่แข็งขัน ทิพรัตน์เห็นประโยชน์ของพระวิหารในกรุงเทพ
“ในประเทศไทย บางครั้งเรารักษาศรัทธาได้ยาก” เขากล่าว “แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือพิเศษ — พระวิหารจะทำให้เห็นความแตกต่าง”
คนรุ่นที่สี่
เวลานี้เด็ก 6 ขวบที่ร้องไห้ในพระวิหารมะนิลากลายเป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสเตคกรุงเทพ ประเทศไทย ประธานอภิชาติ จ้อยสระคูกับสุภาลักษณ์ภรรยาของเขามีบุตรสองคน — ธิชาบุตรสาววัย 7 ขวบกับคีรินทร์บุตรชายวัย 4 ขวบ — ผู้เป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นสี่ของครอบครัวจ้อยสระคู
อภิชาติ จ้อยสระคูรู้จักสุภาลักษณ์ ชมภูใบ — นามสกุลเดิมของเธอ — สมัยเป็นเยาวชนเข้าโบสถ์ในกรุงเทพ เธอเดินทางทุกวันอาทิตย์ — วันหยุดวันเดียวของเธอในสัปดาห์ — จากพัทยาเที่ยวละสามถึงสี่ชั่วโมง เขารับใช้งานเผยแผ่ในประเทศไทยแล้วไปเรียนบีวายยู-ฮาวาย ระหว่างนั้นเธอย้ายมาอยู่กรุงเทพ และทั้งสองแต่งงานกันในพระวิหารฮ่องกงเดือนตุลาคมปี 2012 หลังจากพบกันครั้งแรกได้ห้าปี
ประธานอภิชาติมองการอุทิศพระวิหารกรุงเทพเป็นสองระดับ ระดับแรกและชัดที่สุดคือเป็นการอุทิศพระนิเวศน์ของพระเจ้าอย่างเป็นทางการให้เป็นสิ่งปลูกสร้างถวายแด่พระองค์เพื่อประกอบศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์และทำพันธสัญญา แต่มีการอุทิศที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายในท้องที่ถวายมาตลอดไม่เฉพาะในการก่อสร้างและการเตรียมสถานศักดิ์สิทธิ์นี้เท่านั้นแต่เตรียมตนเองด้วย
“ผมเห็นวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป” เขากล่าว โดยเสริมว่าพระวิหารกลายเป็นสัญลักษณ์ของการให้คำมั่นว่าจะรักษาพันธสัญญาและการพยายามรักษาตนให้สะอาดบริสุทธิ์
สุภาลักษณ์ ชมภูใบตระหนักถึงพรและโอกาสที่ลูกๆ กับครอบครัวเธอมีพระวิหารอยู่ใกล้ๆ ในกรุงเทพ “ดีที่มีพระวิหารอยู่ใกล้ๆ จะได้ไปบ่อยๆ แทนที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปพระวิหาร” เธอกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งได้เห็นพระวิหารด้วยตัวเอง และได้เตรียมเยาวชนเข้าพระวิหารแทนที่จะแค่สนทนาพูดคุยเรื่องพระวิหารในห้องเรียน
“ฉันหวังว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาจะไปพระวิหารด้วยตนเองหรือกับกลุ่มเยาวชนหรือวอร์ด หรือใช้พระวิหารเป็นวิธีทำงานสอนศาสนาโดยพาเพื่อนที่ไม่เป็นสมาชิกมาเยี่ยมชมบริเวณพระวิหาร”
การเริ่มสร้างครอบครัววิสุทธิชนยุคสุดท้ายอีกหนึ่งครอบครัว
ชุติมา “แตงกวา” และกีรดิษฐ์ “แบงค์” จะเป็นหนึ่งในคู่แต่งงานคู่แรกๆ ในพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย โดยมีกำหนดแต่งในอังคารที่ 31 ตุลาคมนี้
ชุติมา อายุ 29 ปี เป็นครูสอนนักเรียนเตรียมอนุบาลวัย 3-4 ขวบ เปลี่ยนใจเลื่อมใสศาสนจักรในเดือนตุลาคมปี 2014 และเป็นสมาชิกคนเดียวในครอบครัว เธอรับใช้ในคณะเผยแผ่เทมเปิลสแควร์ ซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์ ตั้งแต่ปั 2018 ถึงปี 2019 อาศัยอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม ห่างจากกรุงเทพไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยราวเจ็ดชั่วโมงทางรถยนต์
กีรดิษฐ์อายุ 35 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี — ห่างจากกรุงเทพไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเกินแปดชั่วโมง — อยู่กับคุณย่าอายุ 98 ปีกับคุณพ่ออายุ 59 ปี เขาเหมือนคู่หมั้นคือเรียนจบมหาลัย พบผู้สอนศาสนาที่สนามบาสเกตบอลเมื่อ 10 ปีก่อน และรับบัพติศมาตอนอายุ 25 ปี
ทั้งสองพบกันตอนเป็นคณะทำงานที่ค่ายหนุ่มสาวโสดสเตคอุบล ประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว การรับใช้ที่ค่ายเป็นประสบการณ์ใหม่ของกีรดิษฐ์ผู้เลือกดูแลคุณย่ากับคุณพ่อแทนการรับใช้งานเผยแผ่ในช่วงอายุ 20 กว่า “ผมไม่เคยรู้สึกรับใช้ได้สบายๆ แบบนั้นมาก่อน” เขากล่าว โดยเสริมว่าชุติมาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ขยันขันแข็งและคอยสนับสนุนช่วยเหลือ “ผมจึงตัดสินใจขอเธอออกเดทหลังจบค่าย”
ทั้งสองต้องเดินทางจากบ้านเกิดมาพระวิหาร — แต่คู่หมั้นคู่นี้เดินทางมาพระวิหารและมาร่วมงานหนุ่มสาวโสดพิเศษตอนเริ่มโอเพ่นเฮ้าส์พระวิหารในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย
พวกเขาได้รับแจ้งล่วงหน้าเพียงสองสัปดาห์ให้เข้าร่วมคณะนักร้องประสานเสียงเพื่อร้องเพลงที่ทัวร์พระวิหารของหนุ่มสาวโสดและการให้ข้อคิดทางวิญญาณกับเอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง “ค่อนข้างท้าทายสำหรับเรา แต่ทุกอย่างราบรื่นดี” ชุติมากล่าว
ทั้งสองรู้สึกอย่างไรขณะเตรียมรับการผนึกวันที่ 31 ตุลาคมนี้?
“เรารอมานาน — ฉันหมายความว่าหนึ่งปีตั้งแต่เราเริ่มออกเดทถือว่านานกว่าจะได้แต่งงานกับเขา” ชุติมากล่าว “ฉันตื่นเต้นมากที่จะได้แต่งงานกับเพื่อนที่ดีที่สุด — และไม่ใช่แค่สำหรับชีวิตนี้เท่านั้น”
กีรดิษฐ์เสริมว่า “ผมขอบพระทัยมากที่มีแตงกวาอยู่กับผมในโลกที่ท้าทายนี้ … ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ผมอยากอยู่กับเธอชั่วนิรันดร์”