ข่าวเผยแพร่

ทุกข์เรื่องเงิน: คู่สามีภรรยาร่วมกันหาทางป้องกันความขัดแย้งเรื่องเงิน

ดัดแปลงจากบทความโดยมาเรียนน์ ฮอลแมน เพรสค็อตต์, เดเซเร็ทนิวส์

                                                                                                                                                               สิ่งหนึ่งที่ก่อความตึงเครียดที่สุดในสัมพันธภาพของสามีภรรยาหลายคู่คือเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามจัดการกับภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ดำเนินชีวิตตามงบประมาณที่มี หรือชำระหนี้ สามีภรรยาหลายคู่มองว่าการเงินเป็นส่วนหนึ่งของความเครียดในการใช้ชีวิตคู่ 
                
 “การเงินส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว” อี. เจฟฟรีย์ ฮิลล์ อาจารย์วิชาชีวิตครอบครัวที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ (บีวายยู) กล่าวว่า “เราจะเดือดร้อนอย่างแน่นอนถ้าเราใช้เงินไม่เป็น”

การศึกษาค้นคว้าเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Financial Planning เน้นการทำวิจัยที่บีวายยูและมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตท เจาะลึกเรื่องการเงินในชีวิตแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างในลักษณะนิสัยของการใช้เงิน

 “เราได้รับรายงานอย่างสอดคล้องต้องกันว่าปัญหาเรื่องเงินเป็นต้นเหตุของความตึงเครียดอันดับสูงสุดของชาวอเมริกัน เป็นชนวนของความขัดแย้งและการสิ้นสุดชีวิตสมรส” รายงานระบุว่า “จุดประสงค์ของรายงานนี้คือเพื่อพิจารณาว่าลักษณะนิสัยของการใช้จ่ายส่งผลต่อความขัดแย้งเรื่องเงินระหว่างคู่สมรสอย่างไร”

เมื่อวิเคราะห์สิ่งที่นักวิจัยแยกแยะว่าเป็น “คนฟุ่มเฟือย” กับ “คนตระหนี่” นักวิจัยพบว่าในด้านของสามี สิ่งที่ลุกลามไปสู่ความขัดแย้งเรื่องเงินมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อสามีเข้าใจว่าภรรยาเป็นคนฟุ่มเฟือย

“สามีที่มองว่าภรรยาเป็นคนฟุ่มเฟือยมักจะมีแนวโน้มถึงเก้าเท่าที่จะรายงานความขัดแย้งเรื่องเงินในสัมพันธภาพของชีวิตคู่” รายงานกล่าว “ทางด้านภรรยา การมีสามีที่มองว่าภรรยาเป็นคนฟุ่มเฟือยคือชนวนของความขัดแย้งเรื่องเงินในอันดับสูงสุด”

           ถึงแม้ภรรยาจะรายงานความตึงเครียดที่เกิดจากสามีเป็นคนฟุ่มเฟือย แต่ภรรยามีแนวโน้มถึง 11 เท่าที่จะรายงานความขัดแย้งเรื่องเงินเมื่อสามีมองว่าพวกเธอเป็นคนฟุ่มเฟือย

“เป็นสิ่งสำคัญที่พึงทราบว่าในการค้นคว้านี้เราวัดที่ความเข้าใจ ซึ่งอาจจะสะท้อนหรือไม่สะท้อนความเป็นจริงอย่างถูกต้อง” แอชลีย์ เลอบารอน นักศึกษาปีสุดท้ายของบีวายยูและเป็นนักวิจัยคนหนึ่งในโครงการนี้กล่าวว่า “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเข้าใจของคู่สมรสในด้านพฤติกรรมการใช้เงินของอีกฝ่ายเป็นเค้าลางที่บ่งบอกความขัดแย้งเรื่องเงินว่าเมื่อเรื่องนี้ส่งผลกระทบถึงการเงินในสัมพันธภาพของชีวิตคู่ ความเข้าใจก็อาจมีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าความเป็นจริง”

        

“คู่สามีภรรยาต้องสื่อสารกันเรื่องเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นชีวิตแต่งงาน” ซอนยา บริทท์-ลัทเทอร์ หัวหน้านักวิจัย อาจารย์ที่แคนซัสสเตทและผู้เชี่ยวชาญระดับชาติเรื่องการเงินในชีวิตแต่งงานกล่าวในการแถลงข่าวที่บีวายยู “อย่าคิดว่าปัญหาเรื่องเงินจะหมดสิ้นไปอย่างน่าอัศจรรย์เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนไป การค้นคว้าแสดงให้เห็นว่าสภาวการณ์ไม่ใช่ปัญหาตรงนี้ แต่เป็นความเข้าใจ และความเข้าใจไม่ได้เปลี่ยนเสมอไปเมื่อสภาวการณ์เปลี่ยน”

“ถ้าคุณกำลังมีความขัดแย้งกับการเงินของคุณ นั่นไม่ใช่คุณคนเดียว” ฮิลล์กล่าว “นั่นหมายความว่ามีความหวังอยู่ด้วยเช่นกัน บ่อยครั้งการทำสิ่งเรียบง่ายเพียงไม่กี่อย่างสามารถนำคุณออกจากประเภทของความขัดแย้งนั้นได้และนำไปสู่จุดที่การเงินกำลังช่วยเหลือครอบครัวของคุณ”

สำหรับบางคน การจดบันทึกนิสัยการใช้จ่ายของตนเองและความเข้าใจคู่ครองของตนเองอาจเป็นประโยชน์ได้

“ข้อมูลที่เราพบบ่งบอกว่าคู่สมรสควรมองที่การใช้จ่ายเงินของตนเองเท่าๆ กับความเข้าใจคู่ครองของตนเอง และอาจต้องทำการปรับเปลี่ยนในส่วนของตนเองบ้าง” เลอบารอนกล่าว “ฉันเป็นคนฟุ่มเฟือยไหม ถ้าใช่ ฉันจะบริหารเงินให้ดีขึ้นได้อย่างไรเพื่อจะลดภาระทางการเงินของเรา”

      

เลอบารอนแนะนำให้ดูว่าบุคคลมีทัศนะต่อคู่สมรสของเขาอย่างไร โดยรับรู้ว่าความเข้าใจของเขาอาจไม่ยุติธรรม

“ถ้าใช่ ฉันจะเปลี่ยนความเข้าใจ เจตคติและสิ่งที่ฉันกระทำต่อเขาได้อย่างไร” เลอบารอนถาม “สำคัญมากที่เราจะอนุมานว่าเป็นเจตนาดีและมองหาสิ่งดีงามในคู่สมรสของเรา คุณไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคู่สมรสของคุณได้ แต่คุณสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและความเข้าใจที่คุณมีต่อคู่สมรสของคุณได้ บางทีหากเราทุกคนจับผิดตัวเราเองให้มากขึ้นและจับผิดคู่สมรสของเราให้น้อยลง เราจะมีความขัดแย้งเรื่องเงินน้อยลง”

แม้ว่าปัญหาเรื่องเงินทุกเรื่องไม่อาจแก้ไขได้ง่ายๆ เสมอไป แต่ฮิลล์กล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรียบง่ายที่คู่สามีภรรยาทำได้เพื่อช่วยหรือแม้แต่ป้องกันความขัดแย้งในชีวิตแต่งงาน

“หากการปรับเปลี่ยนเรื่องการเงินเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยการช่วยกันคิดแทนที่จะต่างคนต่างคิดว่า ‘นี่เป็นความผิดของคุณ’ ชีวิตคู่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น สัมพันธภาพของสามีภรรยาก็จะมั่นคงขึ้นเช่นกัน” เลอบารอนกล่าว

    

นักวิจัยใช้ข้อมูลจากโครงการ Flourishing Families Project ของบีวายยู โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2007 จำนวนครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 700 ครอบครัวจากสถานที่สองแห่ง ผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุเฉลี่ย 45-46 ปีและแต่งงานมา 18 ปี

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.