ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทยและองค์กรการกุศลแอลดีเอสสนับสนุนการอบรมนานสองวันที่กรุงเทพและขอนแก่น 14-18 พฤศจิกายน เพื่อสอนการกู้ชีพทารกแรกเกิดแก่แพทย์และพยาบาล นายแพทย์สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ประธานชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และรองศาสตราจารย์โรงเรียนแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้เข้ารับการอบรมโปรแกรมกู้ชีพทารกแรกเกิดรุ่นแรกซึ่งจัดขึ้นที่ชิคาโกเมื่อปี 1991 ตั้งแต่นั้นมาคุณหมอสุภา ตามที่เพื่อนร่วมงานเรียกท่าน ได้เป็นเครื่องมืออันล้ำค่าในการนำเอาการอบรมนี้มาสู่ประเทศไทย ท่านอธิบายว่า “หนึ่งในสิบของทารกต้องการให้ช่วยเรื่องการหายใจแบบใดแบบหนึ่งและการได้รู้เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์”
ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเริ่มทำงานกับคุณหมอสุภาในปี 2006 ผ่านองค์กรการกุศลแอลดีเอสซึ่งส่งอาสาสมัครแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มาให้การอบรมผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ พยาบาลและแม้แต่เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ในประเทศไทยเพื่อให้รู้เทคนิคการช่วยชีวิตทารกที่หายใจได้ไม่ดีพอหลังการคลอดโดยทันที “นี่คือโปรแกรมที่พึ่งพาตนเอง จัดเตรียมผู้ชำนาญการด้านสุขภาพแต่ละคนให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการอบรมผู้อื่น กับประเทศไทยที่มีประชากรกระจายกันอยู่อย่างกว้างขวางโดยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ค่อยเพียงพอในท้องที่ชนบท โครงการนี้ได้ช่วยชีวิตทารกไว้หลายพันคน (LDS Charities Project Rescues Infants, Ensign, ตุลาคม 2008)”
อาสาสมัครด้านการแพทย์ซึ่งทำหน้าที่ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์อบรมแพทย์เวชศาสตร์ทารกแรกเกิด 24 คน ซึ่งกลับไปอบรมแพทย์และพยาบาลเพิ่มอีก 240 คนในระหว่างการประชุมใหญ่ ศาสนจักรจัดเตรียมหุ่นทารกแรกเกิดและอุปกรณ์เสริมเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพใช้ในการอบรมด้วย โดยให้พวกเขาได้มีประสบการณ์จากการลงมือทำจริงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความเข้าใจโดยรวม การอบรมนี้ใช้หนังสือ "การกู้ชีพทารกทาทารกแรกเกิด” ของสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics ) ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว
การอบรมรวมถึงการสมมติเหตุการณ์ที่หลากหลายจากการทำงานร่วมกันของแต่ละทีมเพื่อให้การอบรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละทีมจะบันทึกวีดิทัศน์กิจกรรมการฝึกอบรมของตนไว้และนำมาดูหลังจากนั้นเพื่อค้นหาข้อดีและข้อด้อยเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป จะได้ยินผู้เข้ารับการอบรมพูดว่า “เร็วๆ เราจะเสียเด็กคนนี้แล้ว” และ “สำเร็จ เด็กคนนี้โตขึ้นเป็นอัจฉริยะแน่นอน!”
สตีฟและเด็บ วิปเปิลจากซอลท์เลคซิตี้ ยูท่าห์ เป็นหัวหน้าของคณะผู้ให้การอบรมในครั้งนี้โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายแพทย์มาร์ค โรวัน แพทย์กุมารเวช เดบรา พราวิตตต์ พยาบาลจากหน่วยดูแลพิเศษทารกแรกเกิด และแอลลิสัน นีลเซ็น พยาบาลผดุงครรภ์ แอลลิสันกล่าวว่า “คนเหล่านี้รู้สึกว่าได้รับการนำทางมาหาคุณหมอสุภาและโปรแกรมที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์ของเขา”
คู่สามีภรรยาสิบแปดคู่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เฉพาะทางรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเดินทางไปทั่วโลกในแต่ละปีเพื่ออบรมผู้อื่นเรื่องการดูแลแม่และเด็ก การอบรมนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในประเทศที่จัดให้มีโครงการนี้ขึ้น โดยที่ได้สัมผัสกับชีวิตมากกว่า 30,000 ชีวิตใน 42 ประเทศ ขณะนี้องค์กรการกุศลแอลดีเอสกำลังขยายโปรแกรมนี้ออกไปอีกเพื่อช่วยชีวิตเพิ่มขึ้น
โปรแกรมการดูแลมารดาและทารกแรกเกิดประกอบด้วยสามส่วนสำคัญดังนี้ การกู้ชีพทารกแรกเกิด การดูแลมารดา การดูแลที่สำคัญสำหรับทารกทุกคน หลักสูตรพร้อมใช้สำหรับแต่ละส่วนและองค์กรการกุศลแอลดีเอสใช้หลักสูตรนี้โดยเป็นหุ้นส่วนกับ Jhpiego (องค์การระดับนานาชาติด้านสุขภาพที่ไม่หวังผลกำไรอยู่ในเครือเดียวกับมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ซึ่งอุทิศงานให้กับการพัฒนาสุขภาพของสตรีและครอบครัว) และสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics)
“การทำงานกับหุ้นส่วนในภูมิภาคอื่นของโลกทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยที่เราสามารถทำงานร่วมกันในหลายประเทศและผสานแหล่งช่วยต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกมาก” ดีน วอล์คเกอร์ ผู้จัดการโปรแกรมการดูแลมารดาและทารกแรกเกิดกล่าว “การเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรอื่นๆ มีผลกระทบทวีคูณต่องานและนำมาซึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่”
คุณหมอสุภาบอกผู้เข้ารับการอบรมว่า “มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราไม่รู้จัก อดอาหารสองมื้อต่อเดือนแล้วมอบค่าอาหารนั้นแก่ศาสนจักรของพวกเขาเพื่อให้คนเหล่านี้มาสอนเราได้ นอกจากนี้พวกเขายังมอบเวลาที่จะช่วยชีวิตทารกในประเทศของเราอีกด้วย” เด็บ วิปเปิลตอบรับโดยกล่าวว่า “การสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่เก้าทำให้เราลังเลที่จะมา แต่มีคนบอกเราว่านี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ทำ . . . คือการช่วยเหลือเด็กทารก”
ครั้งหนึ่งศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ จูเนียร์กล่าวไว้ว่า “ผู้เปี่ยมด้วยรักของพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่พอใจอยู่เพียงพรที่ครอบครัวของตนได้รับ แต่จะพึงพอใจต่อพรที่คนทั้งโลกได้รับ เขากระตือรือร้นที่จะเป็นพรของมนุษยชาติทั้งมวล” ท่านกล่าวต่อไปว่า “เราต้องเลี้ยงดูคนหิวโหย ห่อหุ้มคนเปล่าเปลือย จัดหาให้หญิงม่าย เช็ดน้ำตาเด็กกำพร้า ปลอบโยนผู้ทุกข์ยาก ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนจักรนี้หรือศาสนจักรอื่นใด หรือแม้ไม่อยู่ในศาสนจักรใดๆ เลย . . .”