บางครั้งเราเรียกบริคัม ยังก์ว่าโมเสสของอเมริกาหรือผู้บุกเบิกนิคมที่ยิ่งใหญ่ ท่านอยู่ในกลุ่มผู้นำศาสนจักรยุคแรกเพื่อนำผู้ลี้ภัยศาสนาหลายพันคนข้ามแนวพรมแดนตะวันตกห่างไกลจากโลกอารยธรรมของสหรัฐ ท่านนำคนกลุ่มนี้เข้ามาในพื้นที่แห้งแล้ง ทดน้ำ เพาะปลูก และตั้งถิ่นฐานหลายแห่งจนประสบความสำเร็จ เมื่อผู้บุกเบิกมอรมอนกลุ่มแรกมาถึงหุบเขาซอลท์เลคในปี ค.ศ. 1847 หลังจากเดินทาง 1,300 ไมล์ข้ามทุ่งราบกว้างใหญ่ บริคัม ยังก์มองไปทั่วบริเวณที่สมัยนั้นเป็นทะเลทรายแห้งผากและประกาศว่า “นี่คือสถานที่ถูกต้อง”
บริคัม ยังก์เกิดวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1801 ท่านเติบโตในถิ่นฐานตามแนวชายแดนของเวอร์มอนต์และเรียนหนังสือตามเกณฑ์ได้เพียง 11 วัน ท่านเป็นช่างไม้ ช่างทำวงกบ ช่างทาสี และช่างกระจกฝีมือดี
ท่านมิได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสศาสนจักรทันที ท่านพินิจพิจารณาพระคัมภีร์มอรมอนอย่างจริงจังเป็นเวลาสองปี และเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลังจากท่านเชื่อมั่นความจริงในนั้นแล้ว ต่อมาท่านนำศาสนจักรในฐานะประธานคนที่สองเป็นเวลา 30 ปี
1 / 2 |
บริคัม ยังก์ควบคุมดูแลการเดินทางข้ามทุ่งราบของผู้บุกเบิก60,000 ถึง 70,000 คนจากอิลลินอยส์และจุดเตรียมการระหว่างทางอีกหลายจุด เช่น ไอโอวา และ มิสซูรี จนมาถึงหุบเขาซอลท์เลค ตั้งถิ่นฐาน 350 ถึง 400 แห่งใน ยูทาห์ แอริโซนา แคลิฟอร์เนีย ไอดาโฮ เนวาดา และไวโอมิง ตลอดจนวางระบบจัดสรรที่ดินซึ่งรัฐสภาอนุมัติในเวลาต่อมา
เพียงสี่วันหลังจากผู้บุกเบิกมอรมอนกลุ่มแรกมาถึงหุบเขาซอลท์เลคที่แห้งผาก บริคัม ยังก์ปักไม้เท้าลงดินตรงจุดที่พระวิหารซอลท์เลคตั้งอยู่ในปัจจุบันและประกาศว่า “พระวิหารของพระผู้เป็นเจ้าจะอยู่ตรงนี้”
คริสต์ศักราช 1849 ประธานยังก์จัดตั้งกองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพเพื่อช่วยผู้อพยพวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ยากจน กองทุนดังกล่าวช่วยผู้อพยพราว 30,000 คนจากหมู่เกาะอังกฤษ สแกนดิเนเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์มาถึงอเมริกา — ผู้อพยพวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกินหนึ่งในสามของทั้งหมดมาจากยุโรปในช่วงเวลานั้น
บริคัม ยังก์รับหน้าที่เป็นผู้ว่าการคนแรกของเขตปกครองพิเศษยูทาห์และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลชาวอินเดียนแดงคนแรกของเขตปกครองพิเศษยูทาห์ นอกจากนี้ท่านยังทำสัญญารับเหมาและช่วยสร้างสายโทรเลขและทางรถไฟ วางขอบเขตอันกว้างขวางของอุตสาหกรรมและธุรกิจ—รวมไปถึง Zions Cooperative Mercantile Institution ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของอเมริกา—และเป็นผู้เสนอให้สตรีมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง
แม้จะศึกษาตามเกณฑ์มาจำกัด แต่บริคัม ยังก์ก็เป็นผู้สนับสนุนการศึกษา ท่านก่อตั้งสถาบันซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ในโพรโว ยูทาห์ และมหาวิทยาลัยยูทาห์ในซอลท์เลคซิตี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าบริคัม ยังก์ปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนด้วย ท่านแต่งงานกับสตรีอย่างน้อย 20 คน และ 16 คนในนั้นมีบุตรให้ท่าน 57 คน ต่อมาศาสนจักรยกเลิกการแต่งภรรยาหลายคน และไม่ยอมให้ปฏิบัติเช่นนั้นมา 100 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันผู้ปฏิบัติพหุสมรสจะได้รับโทษขั้นปัพพาชนียกรรม
บริคัม ยังก์ล้มป่วยและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1877 ที่บ้านของท่านในซอลท์เลคซิตี้ สิริอายุ 76 ปี