บทนำ
เมื่อไม่นานมานี้ศาลสูงสุดของแคลิฟอร์เนียออกกฎให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อยกย่องความสำคัญของการแต่งงานต่อสังคม ศาสนจักรจึงยอมรับคำเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม ProtectMarriage (ปกป้องการแต่งงาน) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของบรรดาศาสนจักร องค์กร และบุคคลต่างๆ ที่สนับสนุนมาตรการลงคะแนนเสียงเดือนพฤศจิกายน ประชามติ 8 ซึ่งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อให้แน่ใจว่าเฉพาะการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเท่านั้นจะเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย (ดูข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มดังกล่าวได้ที่ http://www.protectmarriage.com/)
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2008 ฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรออกจดหมายเกี่ยวกับ “Preserving Traditional Marriage and Strengthening Families (อนุรักษ์การแต่งงานตามแบบแผนดั้งเดิมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว)” โดยประกาศการเข้าร่วมกลุ่มของศาสนจักร จดหมายดังกล่าวอ่านในการประชุมศาสนจักรของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในแคลิฟอร์เนีย ขอให้สมาชิกศาสนจักร “ทำสุดความสามารถ [ของตน] ในการสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว”
สมาชิกศาสนจักรในแอริโซนาและฟลอริดาจะโหวตให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการแต่งงานในรัฐของตนเช่นกัน กลุ่มลักษณะคล้ายกันกับที่แคลิฟอร์เนียกำลังจัดตั้งขึ้นในสองรัฐนี้
จุดมุ่งหมายสำคัญของศาสนจักรในการมีส่วนร่วมครั้งนี้เจาะจงเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันและผลลัพธ์ที่ตามมาของเรื่องนี้ ศาสนจักรไม่ได้คัดค้านสิทธิ (ที่มีอยู่เดิมในแคลิฟอร์เนีย) ด้านโรงพยาบาลและการรักษาพยาบาล สิทธิด้านที่อยู่อาศัยและการจ้างงานเท่าเทียมกัน หรือสิทธิในการพิสูจน์พินัยกรรม ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดต่อบูรณภาพของครอบครัวตามแบบแผนดั้งเดิมหรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญของศาสนจักรต่างๆ กับผู้คนของศาสนจักรเหล่านั้นในการดำเนินการและปฏิบัติตามศาสนาของตนโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ
ศาสนจักรมีมาตรฐานเดียวที่ไม่เบี่ยงเบนเกี่ยวกับศีลธรรมทางเพศ นั่นคือ ความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางเพศจะเหมาะสมก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นระหว่างสามีกับภรรยาที่ผูกพันกันด้วยพันธะของการสมรสเท่านั้น
การที่ศาสนจักรต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกันไม่ได้ก่อให้เกิดหรือยินยอมให้เกิดความเกลียดชังใดๆ ต่อชายและหญิงที่รักร่วมเพศ การปกป้องการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงมิได้ยกเลิกข้อผูกมัดของสมาชิกศาสนจักรในการแสดงความรัก ความมีน้ำใจ และมนุษยธรรมแบบชาวคริสต์ต่อคนทั้งปวง
เมื่อสมาชิกศาสนจักรตัดสินใจมีส่วนร่วมตามระดับความเหมาะสมของตนในการปกป้องการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง พวกเขาจะดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความเคารพต่อผู้อื่น ความเข้าใจ ความซื่อสัตย์ และความสุภาพ
เพื่อลดความเข้าใจผิดและความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้น ศาสนจักรจึงออกเอกสารต่อไปนี้ชื่อ “ธรรมเนียมการแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์” และให้ลิงก์เชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่นๆ เพื่ออธิบายเหตุผลที่ศาสนจักรปกป้องการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงให้เป็นเรื่องของหลักกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม
ธรรมเนียมการแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์
การแต่งงานเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ และได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้านับตั้งแต่การวางรากฐานของโลก หลังจากทรงสร้างอาดัมกับเอวา พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศให้ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน “เพราะเหตุนี้ ผู้ชายจะละจากบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน” พระเยซูคริสต์ทรงอ้างคำประกาศยืนยันของอาดัมถึงจุดกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาการแต่งงานว่า “ท่านทั้งหลายไม่ได้อ่านหรือว่า พระผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่เดิมนั้นทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง และตรัสว่า เพราะเหตุนี้ผู้ชายจะละบิดามารดาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เขาทั้งสองจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน”
ในปี 1995 “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ประกาศความจริงอันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการแต่งงาน ดังนี้
เราฝ่ายประธานสูงสุด และสภาอัครสาวกสิบสองของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ขอประกาศด้วยความเคารพว่า การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์… ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า การแต่งงานระหว่างชายและหญิงเป็นสิ่งสำคัญต่อแผนนิรันดร์ของพระองค์ เด็กมีสิทธิ์ถือกำเนิดภายในพันธะของการสมรสและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่รักษาคำปฏิญาณของการแต่งงานด้วยความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง
ถ้อยแถลงดังกล่าวยังสอนด้วยว่า “เพศเป็นบุคลิกภาพสำคัญยิ่งของแต่ละบุคคลก่อนชีวิตมรรตัย ขณะมีชีวิตมรรตัย และเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์” เรื่องราวในปฐมกาลเกี่ยวกับการสร้างอาดัมและเอวาไว้บนแผ่นดินโลกตอกย้ำเรื่องการสร้างเพศสองเพศแยกกันว่า “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นและทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง”
การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเป็นศูนย์กลางในแผนแห่งความรอด ธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอำนาจการให้กำเนิด เฉพาะชายและหญิงด้วยกันเท่านั้นที่มีความสามารถทางชีววิทยาตามธรรมชาติในการทำให้เกิดการปฏิสนธิบุตรได้ อำนาจการให้กำเนิด–ในการสร้างชีวิตและนำวิญญาณบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามายังโลก– เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์และล้ำค่า การใช้อำนาจนี้ในทางที่ผิดจะบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวและทำให้โครงสร้างของสังคมอ่อนแอลง ครอบครัวที่เข้มแข็งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันพื้นฐานในการถ่ายทอดความเข้มแข็งทางศีลธรรมไปยังอนุชนรุ่นหลัง รวมถึงประเพณีและค่านิยมต่างๆ ที่ค้ำจุนอารยธรรมด้วย ดังที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกาศยืนยันว่า “ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคม”
การแต่งงานไม่ใช่สัญญาระหว่างบุคคลที่ทำขึ้นเพื่อยืนยันความรักใคร่ชอบพอและให้พันธะผูกพันทั้งสองฝ่ายร่วมกันเป็นสำคัญ ทว่าการแต่งงานและครอบครัวเป็นเครื่องมืออันจะขาดเสียมิได้ต่อการเลี้ยงดูบุตรธิดาและสอนพวกเขาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ใช่ต้นคิดให้มีการแต่งงาน แต่ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมารัฐบาลทุกประเภทยอมรับและยืนยันว่าการแต่งงานเป็นธรรมเนียมสำคัญยิ่งในการรักษาเสถียรภาพของสังคมและการดำรงเผ่าพันธุ์ ดังนั้นไม่ว่าการแต่งงานจะประกอบขึ้นด้วยพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีการทางโลก คู่แต่งงานในเกือบทุกวัฒนธรรมจึงได้รับสิทธิพิเศษที่มุ่งค้ำจุนความสัมพันธ์และส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูบุตรเป็นสำคัญ สามีภรรยาไม่ได้รับประโยชน์เหล่านี้เพื่อยกพวกเขาให้อยู่เหนือบุคคลคู่อื่นที่อาศัยอยู่ในชายคาเดียวกันหรือมีเครือข่ายสังคมเดียวกัน แต่ได้รับมาเพื่ออนุรักษ์ ปกป้อง และคุ้มครองธรรมเนียมการแต่งงานและสถาบันครอบครัวอันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
เป็นความจริงที่คู่แต่งงานบางคู่จะไม่มีบุตร ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือเพราะเป็นหมัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามสถานะพิเศษของการแต่งงานก็ยังสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของการให้กำเนิดที่ติดตัวมา และความแตกต่างระหว่างเพศที่มีมาแต่กำเนิด การอยู่ก่อนแต่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือการถือสิทธิ์ใดก็ตาม ย่อมไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกำหนดรูปแบบการแต่งงานขึ้นมาใหม่
อัตราสูงของการหย่าร้างและเด็กนอกสมรสส่งผลให้พ่อแม่ตัวคนเดียวในสังคมอเมริกามีจำนวนมากเป็นพิเศษ พ่อแม่ตัวคนเดียวหลายคนเลี้ยงดูบุตรได้น่ายกย่อง แต่ถึงกระนั้น การศึกษาอย่างละเอียดแสดงให้เห็นว่าโดยทั่วไปสามีภรรยาที่แต่งงานด้วยความรักความมั่นคงต่อกันจะสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้รับการปกป้องและการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีที่สุด สิ่งนี้ไม่ได้มาจากพื้นฐานคุณลักษณะส่วนตัวที่บิดามารดาจะนำมาใช้ในการเลี้ยงดูบุตรเท่านั้น แต่เป็นเพราะข้อดีที่ทั้งบิดามารดาต่างก็มีตามลักษณะทางเพศของตนเองซึ่งนำมาใช้ในภารกิจนี้ ดังที่เดวิด โพเพโน นักสังคมวิทยาผู้มีชื่อเสียงกล่าวไว้ว่า
สาระสำคัญของหลักฐานทางสังคมวิทยาสนับสนุนแนวคิดที่ว่าการเลี้ยงดูแบบแยกแยะความแตกต่างเรื่องเพศมีความสำคัญต่อพัฒนาการของมนุษย์ และการที่บิดามีส่วนช่วยเลี้ยงดูบุตรเป็นสิ่งพิเศษสุดที่หาอะไรมาทดแทนไม่ได้
โพเพโนอธิบายว่า
… รูปแบบการเลี้ยงดูในลักษณะที่ชายกับหญิงเติมเต็มซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการโดยรวมของบุตร บางครั้งกล่าวกันว่าบิดาแสดงถึงความห่วงใยต่อพัฒนาการระยะยาวของบุตรมากกว่า ขณะมารดามุ่งสนใจอยู่กับความผาสุกปัจจุบันของบุตร (ซึ่งแน่นอนว่าความสนใจเช่นนี้ส่งผลต่อความผาสุกระยะยาวของบุตรด้วยวิธีของมันเอง) สิ่งที่ชัดเจนคือบุตรมีความต้องการควบคู่กันที่ต้องมีคนตอบสนอง นั่นคือ ต้องการความเป็นอิสระและความสัมพันธ์ ต้องการความท้าทายและการสนับสนุน
นักประวัติศาสตร์สังคมชื่อเดวิด แบลงเก็นฮอร์น แสดงความคิดเห็นคล้ายกันในหนังสือของเขาเรื่อง Fatherless Americaในสังคมอุดมคติ เด็กทุกคนต้องได้รับการเลี้ยงดูจากทั้งบิดามารดา
ความท้าทายในการแต่งงานและครอบครัว
ยุคสมัยปัจจุบันเราได้เห็นการแต่งงานตามแบบแผนดั้งเดิมและครอบครัว – ซึ่งนิยามว่าเป็นสามีภรรยาและบุตรในการแต่งงานที่สมบูรณ์ – ถูกโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ ศีลธรรมทางเพศเสื่อมถอยและการนอกใจมีมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 1960 สัดส่วนของเด็กที่เกิดนอกสมรสพุ่งขึ้นจาก 5.3 เปอร์เซ็นต์เป็น 38.5 เปอร์เซ็นต์ (2006) การหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยสหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการหย่าร้างสูงที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1973 การทำแท้งคร่าชีวิตบริสุทธิ์ไปกว่า 45 ล้านคน ในขณะเดียวกัน มาตรฐานสิ่งบันเทิงจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ และสื่อลามกกลายเป็นหายนะที่ทำให้เหยื่อหลายคนเสพติดและทนทุกข์ ความแตกต่างทางเพศถูกมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย นอกประเด็น หรือชั่วครู่ชั่วยาม จนบ่อนทำลายจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างชายและหญิง
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ในสหรัฐและประเทศอื่นๆ มีการเคลื่อนไหวออกมาส่งเสริมการแต่งงานเพศเดียวกันให้เป็นสิทธิ์ดั้งเดิมหรือสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ นี่ไม่ใช่ก้าวเล็กๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน เพราะแทนที่สังคมจะกล้ำกลืนหรือยอมรับพฤติกรรมทางเพศแบบลับๆ ที่สมยอมกันระหว่างผู้ใหญ่ แต่ผู้สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกันกลับพยายามให้เรื่องนี้ได้รับอนุมัติและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ
ศาลตัดสินในรัฐแมสซาชูเสตส์ (2004) และรัฐแคลิฟอร์เนีย (2008) อนุญาตให้มีการแต่งงานเพศเดียวกัน แนวโน้มเช่นนี้ก่อให้เกิดภัยร้ายคุกคามการแต่งงานและครอบครัว ธรรมเนียมการแต่งงานจะอ่อนแอลง ส่งผลเสียต่อทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ผู้ออกเสียงลงคะแนนจะตัดสินใจว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิยามการแต่งงานให้เป็นการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเข้าร่วมกลุ่มแพร่หลายของนิกายอื่นๆ รวมถึงองค์กรและบุคคลที่สนับสนุนผู้ออกเสียงลงคะแนนให้อนุมัติการแก้ไขดังกล่าว
ประชาชนของสหรัฐ – แสดงท่าทีโดยตรงหรือไม่ก็โดยผ่านผู้แทนที่ตนเลือก – ต่างทราบดีถึงบทบาทสำคัญยิ่งที่การแต่งงานตามแบบแผนดั้งเดิมมีต่อสังคมชาวอเมริกันและยังต้องมีบทบาทต่อไปหากเด็กและครอบครัวต้องได้รับการปกป้องและให้ค่านิยมทางศีลธรรมแผ่ขยายต่อไป
สี่สิบสี่รัฐผ่านการตรากฎหมายโดยระบุชัดเจนว่าการแต่งงานเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิง มากกว่าครึ่งของรัฐเหล่านั้น รวมยี่สิบเจ็ดรัฐ กระทำโดยแก้ไขธรรมนูญเช่นเดียวกับฉบับที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และฟลอริดา
ในทางกลับกัน ผู้ที่จะกำหนดให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันในสังคมอเมริกาได้เลือกวิธีการต่างออกไป ผู้สนับสนุนนำกรณีของตนยื่นฟ้องต่อศาลมลรัฐ ขอให้ผู้พิพากษาเปลี่ยนธรรมเนียมการแต่งงานที่สังคมยอมรับและยึดถือกันมานับสหัสวรรษ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ศาลส่วนใหญ่ – หกในแปดศาลสูงสุดประจำรัฐ – ต่างธำรงกฎหมายการแต่งงานตามแบบแผนดั้งเดิมไว้ มีเฉพาะรัฐแมสซาชูเสตส์กับแคลิฟอร์เนียสองรัฐนี้เท่านั้นที่ไปในทิศทางอื่น ด้วยคะแนนเสียงใกล้กันมาก– คือ 4 ต่อ 3 ทั้งสองกรณี
สรุปคือ มีความเห็นชอบร่วมกันอย่างชัดเจนมากทั่วอเมริกาว่าการแต่งงานคืออะไร ดังที่ประชาชนรัฐแคลิฟอร์เนียต่างทราบดีขณะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนี้เมื่อแปดปีที่แล้ว การแต่งงานแบบดั้งเดิมจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะต่อเด็กๆ เพราะปัญหานี้พุ่งกระทบตรงหัวใจสำคัญของครอบครัว เพราะนี่คือประเด็นสำคัญทางศีลธรรมอย่างหนึ่งในยุคปัจจุบัน และเพราะประเด็นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อครอบครัว ศาสนจักรจึงออกมาพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ และขอให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วม
ขันติธรรม การแต่งงานเพศเดียวกันและเสรีภาพทางศาสนา
ผู้สนับสนุนการแต่งงานแบบรักร่วมเพศโต้แย้งว่า “ขันติธรรม” เรียกร้องให้พวกเขาได้รับสิทธิ์แต่งงานเป็นคู่สามีภรรยารักร่วมเพศ แต่การร้องขอ “ขันติธรรม” เช่นนี้เป็นการเข้าข้างความหมายและผลลัพธ์ซึ่งต่างกันอย่างมากกับความหมายของคำนี้ที่มีมาเกือบตลอดประวัติศาสตร์อเมริกา และมีความหมายต่างกันอย่างมากกับสิ่งที่พบในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนแนวคิดที่สูงกว่ามาก นั่นคือความรัก พระองค์ทรงแนะนำว่า “จงรักเพื่อนบ้าน” พระเยซูทรงรักคนบาป แม้ว่าทรงประณามบาปในเวลาเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีของหญิงล่วงประเวณี พระองค์ทรงปฏิบัติต่อนางอย่างอ่อนโยน แต่ทรงแนะนำให้นาง “อย่าทำบาปอีก” ขันติธรรมที่เป็นหลักธรรมพระกิตติคุณหมายถึงรักและให้อภัยกัน ไม่ใช่ “ยอมให้เกิด” การล่วงละเมิด
ในโลกทุกวันนี้ แนวคิดเรื่องขันติธรรมมีความหมายแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง แทนที่จะหมายถึงความรัก แต่กลับหมายถึง มองข้ามความผิด – การยอมรับพฤติกรรมผิดๆ เพื่อรักษามิตรภาพเอาไว้ พระเยซูทรงสอนให้เรารักและห่วงใยกันโดยไม่ต้องยอมรับพฤติกรรมล่วงละเมิด แต่นิยามซึ่งเป็นที่พอใจทางการเมืองยืนกรานว่าหากเราไม่ยอมรับบาปก็เท่ากับว่าเราไม่มีขันติธรรมต่อคนบาป
ดังที่เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ อธิบายว่า
เห็นได้ชัดว่าขันติธรรมเรียกร้องให้กระทำในลักษณะไม่ขัดแย้งในข้อแตกต่างที่มีต่อกัน แต่ขันติธรรมไม่ได้เรียกร้องให้ใครทิ้งมาตรฐานและความคิดเห็นที่ตนมีต่อการเลือกด้านการเมืองหรือนโยบายสาธารณะ ขันติธรรมเป็นวิธีแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลาย หาใช่คำสั่งเพื่อปกป้องสิ่งเหล่านี้จากการตรวจสอบแต่อย่างใดไม่
ศาสนจักรไม่ได้ยอมรับการกระทำที่เป็นการหยาบหยามผู้อื่น แต่กระตุ้นให้สมาชิกศาสนจักรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ อย่างไรก็ตาม การออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติที่ศาสนจักรไม่เห็นด้วยเรื่องเหตุผลทางศีลธรรม–รวมถึงเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน–ไม่ได้ก่อให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามหรือสิ่งที่มักจะเรียกกันอย่างผิดๆ ว่า “วาทะแห่งความเกลียดชัง (hate speech)” เราสามารถแสดงความรักและมิตรไมตรีต่อสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่นิยมรักร่วมเพศโดยไม่ต้องยอมรับพฤติกรรมรักร่วมเพศหรือนิยามใหม่ใดๆของการแต่งงาน
การทำให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อกิจกรรมและนโยบายของรัฐบาล เมื่อใดที่รัฐประกาศว่าการสมรสระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมเกือบเท่ากับว่ารัฐจะบังคับใช้นโยบายอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อคู่สมรสเพศเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า “ศาสนจักรกับรัฐอยู่ในวิถีปะทะกัน”
โอกาสที่อาจมีการแต่งงานเพศเดียวกันในอนาคตได้ทำให้กฎหมายขัดแย้งกับสิทธิในการพูดและกระทำอย่างเสรีบนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาแล้ว ตัวอย่างเช่น ผู้สนับสนุนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในบางรัฐกำลังคัดค้านสิทธิ์ที่ยึดถือกันมานานว่าด้วยการให้หน่วยงานรับเป็นบุตรบุญธรรมที่เคร่งศาสนาทำตามความเชื่อทางศาสนาของตนและให้เด็กไปอยู่ในบ้านที่มีทั้งบิดาและมารดา ส่งผลให้องค์กรการกุศลต่างๆ ของนิกายคาทอลิกในเมืองบอสตันหยุดดำเนินงานด้านจัดหาให้มีการรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว
ผู้สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกันคนอื่นๆ กำลังเสนอให้เพิกถอนสิทธิการยกเว้นภาษีและผลประโยชน์ต่างๆ จากองค์กรทางศาสนาที่ไม่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน ขณะนี้มีการใช้กฎหมายสิ่งอำนายความสะดวกสาธารณะเข้ามามีอิทธิพลบีบให้องค์กรทางศาสนายอมให้จัดฉลองการแต่งงานหรืองานเลี้ยงรับรองในศาสนสถาน ซึ่งตามปกติเปิดให้สาธารณชนทั่วไปใช้ได้ การเพิ่มอำนาจให้องค์กรต่างๆ ในบางกรณียิ่งเป็นการกดดันให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทางศาสนาต้องจัดหาที่พักคู่แต่งงานให้แก่คู่เพศเดียวกัน มหาวิทยาลัยบางแห่งแจ้งองค์กรทางศาสนาสำหรับนักศึกษาว่าพวกเขาอาจสูญเสียการยอมรับและสิทธิประโยชน์หากกีดกันไม่ให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันเข้ามาเป็นสมาชิกชมรม
หลายตัวอย่างเหล่านี้กลายเป็นสภาพทางกฎหมายในหลายประเทศของสหภาพยุโรป และสภายุโรปเสนอให้กฎหมายรับรองและปกป้องสิทธิของคู่แต่งงานเพศเดียวกันมีผลบังคับใช้เหมือนกันทั่วอียู ด้วยเหตุนี้ หากการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นสิทธิพลเมืองที่กฎหมายยอมรับ ย่อมมีข้อขัดแย้งมากมายกับเสรีภาพทางศาสนา และในด้านสำคัญๆ บางด้าน เสรีภาพทางศาสนาอาจถูกบั่นทอนตามไปด้วย
การแต่งงานเพศเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
ข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้นกับเสรีภาพทางศาสนาไม่ใช่ผลกระทบทางสังคมเพียงอย่างเดียวที่เกิดจากออกกฎหมายรับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน บางทีข้อโต้แย้งที่เลวร้ายมากที่สุดซึ่งผู้เสนอให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันนำมาอ้างคือ เรื่องนี้ไม่ทำให้เกิดผลเสียเลยและจะไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมเนียมดั้งเดิมของการแต่งงานต่างเพศแต่อย่างใด “เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบคุณเลย แล้วคุณจะสนใจทำไม” เป็นคำพูดที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นความจริงที่การปล่อยให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงทันทีต่อการแต่งงานทั้งหมดที่มีอยู่เดิม แต่ปัญหาจริงๆ คือเรื่องนี้จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมโดยรวม ในวันข้างหน้ารวมถึงอนุชนรุ่นหลังและรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ประสบการณ์จากประเทศในยุโรปไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายรับรองการแต่งงานกับเพศเดียวกันชี้ให้เห็นว่า นิยามการแต่งงานตามแบบแผนดั้งเดิมที่เจือจางลงจะบั่นทอนเสถียรภาพที่อ่อนแออยู่แล้วของการแต่งงานและครอบครัวโดยรวม การยอมรับการแต่งงานกับเพศเดียวกันเป็นการอะลุ้มอล่วยต่อหลักการดั้งเดิมของการแต่งงาน พร้อมกับผลเสียที่จะตามมาต่อสังคม
นอกจากผลร้ายแรงอย่างยิ่งจากการบ่อนทำลายและบั่นทอนธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง ยังมีผลกระทบเชิงปฏิบัติหลายอย่างในด้านนโยบายสาธารณะซึ่งจะเป็นปัญหาลึกซึ้งต่อผู้ปกครองและสังคมโดยรวม เรื่องเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อความเข้าใจถึงความร้ายแรงของปัญหาในภาพรวมอันเนื่องมาจากการแต่งงานกับเพศเดียวกัน
เมื่อชายและหญิงแต่งงานกันด้วยเจตนาที่จะสร้างครอบครัวใหม่ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความเต็มใจของพวกเขาที่จะยอมทิ้งความมุ่งมั่นในการเติมเต็มชีวิตส่วนตัว รวมถึงการยอมสละเวลาและปัจจัยต่างๆ เพื่ออบรมเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่ โดยพื้นฐานแล้วการแต่งงานเป็นการกระทำที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว กฎหมายคุ้มครองการแต่งงานเพราะชายกับหญิงเท่านั้นที่สามารถสร้างชีวิตใหม่ด้วยกันได้ และเพราะการเลี้ยงดูบุตรต้องอาศัยข้อผูกมัดตลอดชีวิต ซึ่งการแต่งงานมีจุดประสงค์เพื่อการนั้น การที่สังคมยอมรับการแต่งงานกับเพศเดียวกันไม่อาจนำมารับรองความชอบธรรมได้เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าเรื่องนี้เข้ามาเติมเต็มชีวิตของทั้งคู่ให้สมบูรณ์ เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของรัฐบาลที่จะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายไปเสียทุกเรื่องเพื่อให้ใครได้สมหวังในชีวิต โดยนิยามแล้ว การอยู่กินกับเพศเดียวกันไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ และไม่ว่าบุคคลเพศเดียวกันสองคนจะรักใคร่กันมากเพียงใด ก็ไม่มีทางสร้างชีวิตแต่งงานที่อุทิศให้การเลี้ยงดูผู้สืบสายโลหิตของตนทั้งสองฝ่ายได้อย่างแน่นอน
จริงอยู่ที่คู่ครองเพศเดียวกันจะได้สิทธิ์เป็นผู้ปกครองเด็ก–ผ่านความสัมพันธ์ต่างเพศครั้งก่อน ผ่านการรับบุตรบุญธรรมในรัฐที่อนุญาตให้ทำเช่นนี้ หรือโดยการผสมเทียม แม้จะเป็นเช่นนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดของนโยบายสาธารณะต้องเป็นว่า สภาพแวดล้อมแบบใดที่เหมาะสำหรับเด็กมากที่สุดและเหมาะสำหรับอนุชนรุ่นหลัง การแต่งงานตามแบบแผนดั้งเดิมให้อัตลักษณ์ทางสังคมที่แข็งแรงมั่นคงแก่เด็ก เพิ่มความเป็นไปได้ที่เด็กจะสร้างอัตลักษณ์ทางเพศได้ชัดเจน ด้วยสภาพทางเพศที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับทั้งความรักและการให้กำเนิด ในทางกลับกัน การทำให้การแต่งงานกับเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนอัตลักษณ์ทางสังคม พัฒนาการทางเพศ และอุปนิสัยทางศีลธรรมของเด็ก เป็นการฉลาดแล้วหรือที่สังคมจะดำเนินการทดลองสุดโต่งเช่นนี้โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาวที่จะตามมาสำหรับเด็ก
ดังเช่นตัวอย่างหนึ่งของการที่เด็กจะได้รับผลเสีย การตั้งการแต่งงานกับเพศเดียวกันให้เป็นสิทธิพลเมือง กฎหมายจะบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรการศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อรัฐบอกว่าการครองคู่เพศเดียวกันเทียบเท่ากับการแต่งงานต่างเพศ หลักสูตรโรงเรียนรัฐบาลย่อมต้องสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ เริ่มตั้งแต่โรงเรียนประถมศึกษาที่จะสอนเด็กว่านิยามการแต่งงานสามารถหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่สองคน และความสัมพันธ์ทางเพศที่ยินยอมทั้งสองฝ่ายมีค่าเป็นกลางทางศีลธรรม การสอนชั้นเรียนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนมัธยมอาจเป็นการสอนความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเท่าๆ กับความสัมพันธ์ต่างเพศ พัฒนาการเหล่านี้จะก่อให้เกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างระเบียบวาระของระบบโรงเรียนทางโลกกับสิทธิที่ผู้ปกครองจะสอนบุตรธิดาถึงมาตรฐานดั้งเดิมทางศีลธรรม
ในที่สุดแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ครอบครัวทำหน้าที่ประหนึ่งกำแพงต้านข้าศึกด่านสำคัญให้แก่เสรีภาพส่วนบุคคล กำแพงบ้านเป็นเกราะป้องกันอิทธิพลทางสังคมที่เป็นอันตราย และบางครั้งก็ป้องกันการใช้อำนาจเกินเลยของรัฐบาล เมื่อไม่มีการกระทำทารุณกรรมหรือการทอดทิ้ง รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปแทรกแซงการเลี้ยงดูและการอบรมศีลธรรมเด็กในบ้าน ด้วยเหตุนี้ครอบครัวที่เข้มแข็งจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อเสรีภาพทางการเมือง แต่เมื่อใดที่รัฐบาลเชื่อไปเองว่าการให้นิยามใหม่แก่ลักษณะของการแต่งงาน การออกข้อบังคับเพื่อให้สาธารณชนยอมรับการแต่งงานนอกแบบแผนดั้งเดิม ย่อมเท่ากับรัฐบาลได้ย่างก้าวเข้ามาใกล้การแทรกแซงในขอบเขตศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตครอบครัวแล้ว ผลที่ตามมาจากการล้ำเส้นเช่นนี้มีมากมายและไม่อาจคาดเดาได้ แต่น่าจะรวมถึงการที่รัฐมีอำนาจและบรรลุผลมากขึ้นในจุดหมายใดก็ตามที่รัฐพยายามดำเนินการ
ความศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว
ครอบครัวที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพและมีบิดามารดาเป็นหัวหน้า ถือเป็นสมอยึดเหนี่ยวของสังคมอารยะ เมื่อการแต่งงานถูกบ่อนทำลายด้วยความสับสนทางเพศและการบิดเบือนความหมายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติไว้ เด็กและเยาวชนที่เป็นอนุชนรุ่นหลังจะพบว่าเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะพัฒนาอัตลักษณ์ของตนที่เป็นชายหรือหญิงมาแต่กำเนิด บางคนจะพบว่ายากขึ้นที่จะมีช่วงเวลาความรักที่ดีงาม สร้างชีวิตแต่งงานที่มั่นคง และเลี้ยงดูอนุชนอีกรุ่นหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้เต็มไปด้วยพลังและจุดประสงค์ทางศีลธรรม
ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเลือกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับศาสนจักรอื่นๆ ตลอดจนองค์กรและบุคคลในการปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง เพราะนี่คือประเด็นบีบบังคับทางศีลธรรมเรื่องสำคัญลึกซึ้งต่อศาสนาของเราและต่ออนาคตของสังคมเรา
บรรทัดสุดท้ายในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นคำเตือนต่อโลกจากฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองที่ว่า “เราเรียกร้องประชาชนพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบทุกหนแห่งให้ส่งเสริมการวางมาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม” นี่คือวิถีทางที่ผู้นำศาสนจักรวางไว้ และเป็นวิถีทางปลอดภัยเพียงเส้นทางเดียวสำหรับศาสนจักรและประเทศชาติ