หัวข้อ

ความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติ

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเริ่มแต่งตั้งฐานะปุโรหิตให้สมาชิกที่เป็นผู้สืบตระกูลชาวแอฟริกามามากกว่า 30 ปีแล้ว

นั่นเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสนจักร โดยเกี่ยวข้องไม่เพียงกับสมาชิกในสหรัฐเท่านั้นแต่ในศาสนจักรที่กระจายอยู่ทั่วโลกด้วย

เวลานั้นคนทั่วไปสังเกตเห็นว่าสมาชิกศาสนจักรทุกแห่งหนตอบรับการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติครั้งนี้ด้วยความกระตือรือร้น เคน วูดเวิร์ด นักเขียนบทความทางศาสนาให้ Newsweek เขียนในนิตยสารฉบับวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1978 ดังนี้

การเปิดเผยดังกล่าวทำให้คนเดินถนนยามเที่ยงวันในซอลท์เลคซิตี้ประหลาดใจ ชายคนหนึ่งที่เปิดวิทยุกระเป๋าหิ้วฟังสถานีของศาสนจักรโทรไปหาพนักงานในสำนักงานใหญ่ของศาสนจักรอย่างตื่นเต้นว่า “พวกเขาเพิ่งประกาศว่าคนผิวดำรับฐานะปุโรหิตได้!” เจมส์ ดอว์สัน สมาชิกคนผิวดำหนึ่งในสองคนของคณะนักร้องประสานเสียงมอรมอนแทเบอร์นาเคิลบอกเพื่อนวิสุทธิชนว่า ‘ศรัทธาของผมแรงกล้าขึ้น ผมมีความสุขมาก”

ในที่อื่นๆ สมาชิกศาสนจักรทั้งคนผิวดำและคนผิวขาวที่ตื่นเต้นดีใจต่างโทรถึงกัน กดแตรรถไปตามถนนและรวมกลุ่มกันสนทนาเรื่องคำประกาศที่มาโดยฉับพลันหลังจากประสบการณ์ทางวิญญาณสำคัญอันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นกับสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ ประธานศาสนจักรเวลานั้นและเพื่อนอัครสาวกของท่านในศาสนจักร

วูดเวิร์ดจาก Newsweek เริ่มทำนายว่าก้าวต่อๆ ไปน่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมคนผิวดำภายใต้การกำกับดูแลของเอ็ลเดอร์คนผิวดำ

คำทำนายของวูดเวิร์ดบอกว่าแม้แต่ในปี ค.ศ. 1978 หนึ่งทศวรรษหลังจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองเปลี่ยนโฉมหน้าของอเมริกา ผู้นมัสการในโบสถ์หลายแห่งทั่วประเทศยังแยกเชื้อชาติกันอยู่ คนผิวดำส่วนใหญ่ยังคงนมัสการกับคนผิวดำ และคนผิวขาวส่วนใหญ่ยังคงนมัสการกับคนผิวขาว ผู้ปฏิบัติศาสนกิจคนผิวดำน้อยคนได้รับแต่งตั้งให้ไปสั่งสอนในที่ประชุมของคนผิวขาวและการเลือกปฏิบัติในรูปแบบอื่นยังคงมีอยู่อีกหลายปีต่อมา

อันที่จริง ไม่มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ไม่เคยมีนโยบายให้ชุมนุมแยกเชื้อชาติ ที่ใดชาวมอรมอนหลากหลายเชื้อชาติหรือภูมิหลังเป็นเพื่อนบ้านกัน พวกเขามักนมัสการด้วยกันตลอดระยะเวลาในประวัติศาสนจักร นานก่อน ค.ศ. 1978 คนผิวดำรับบัพติศมาเป็นสมาชิก สั่งสอนจากแท่นพูด และกล่าวคำสวดอ้อนวอนในที่ประชุมของคนผิวขาว—โดยไม่ได้กำหนดว่าสมาชิกดังกล่าวต้องดำรงตำแหน่งฐานะปุโรหิต

หลังจากประกาศการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1978 ศาสนจักรเริ่มแต่งตั้งสมาชิกชายผิวดำสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตทันทีไม่ว่าพวกเขาเข้าร่วมประชุมที่ใดในโลก พระวิหารแห่งแรกในแอฟริกาสร้างที่แอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1981 และอีกสองแห่ง—ในกานาและไนจีเรีย—ได้รับการอุทิศเมื่อไม่นานมานี้ 

ข่าวพาดหัวของ Washington Post ปี 2007 พูดถึง “โฉมใหม่แห่งความเชื่อของชาวมอรมอนทั่วโลก” New York Times กล่าวในบทความปี 2005 ว่าอาคารศาสนจักรหลังใหม่ในเมืองเป็น “ที่ชุมนุมรวมเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในฮาร์เล็ม มีจำนวนผู้นมัสการเป็นคนผิวขาวพอๆ กับคนผิวดำ”

ท่ามกลางรายงานสื่อที่ส่วนใหญ่เห็นดีเห็นชอบ ก็ยังมีข้อท้วงติงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่ร้อนระอุของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

อาร์หมัด คอร์บิตต์ ชาวแอฟริกัน-อเมริกันซึ่งเป็นประธานสเตค (เทียบเท่าเขตอำนวยการศาสนกิจ) ในนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่าการกล่าวหาเป็นครั้งคราวว่าศาสนจักรเหยียดผิวคงต้องให้มา “เห็นว่าจริงแล้วๆ พวกเขาเป็นอย่างไร”

“ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจว่าคนพูดเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเลย” คอร์บิตต์กล่าว

คอร์บิตต์เป็นผู้นำสเตคหลากหลายเชื้อชาติแห่งหนึ่งในศาสนจักร ถึงแม้สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว แต่ที่ประชุมสิบสองแห่งของเขามีคนต่างพื้นเพหลากหลายชาติ ผู้เข้าร่วมประชุมสามแห่งของเขาพูดภาษาสเปน และฝ่ายประธานสามคนของคอร์บิตต์เองประกอบด้วยที่ปรึกษาซึ่งเป็นคนผิวขาวและที่ปรึกษาซึ่งเป็นชาวตองกา

“คนใดพูดว่าศาสนจักรเป็นพวกเหยียดผิวคนนั้นไม่ได้พูดจากประสบการณ์และไม่เข้าใจถึงความกลมเกลียวด้านเชื้อชาติที่เรามีในครอบครัวศาสนจักร” คอร์บิตต์กล่าว “สมาชิกผิวดำบางคนอาจเคยมีประสบการณ์แง่ลบที่ใดที่หนึ่งในศาสนจักรซึ่งมีสมาชิก 13 ล้านครึ่ง แต่ในการประชุมหลายครั้งกับสมาชิกและผู้นำศาสนจักรทุกระดับตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมไม่เคยประสบเรื่องการเหยียดผิวมาก่อนแม้แต่น้อย”

โทนี พาร์กเคอร์ประธานสเตคชาวแอฟริกัน-อเมริกันอีกคนหนึ่ง ควบคุมดูแลที่ประชุมเก้าแห่งในเขตแอตแลนตา รวมทั้งเขตหนึ่งที่อธิการเป็นคนผิวดำ พาร์กเคอร์เป็นสมาชิกของมอรมอนมานาน 25 ปี

“ตอนนี้ผมเป็นคนดีกว่าที่แล้วมา” พาร์กเคอร์กล่าว “ผมรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับตนเอง นี่เป็นหลายปีของการเติบโตและการเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง”

พาร์กเคอร์กล่าวว่าเขามีคำตอบที่เรียบง่ายให้นักวิจารณ์นอกศาสนจักร “ใครที่คิดว่าศาสนจักรเป็นพวกเหยียดผิวต้องมาดู พวกเขาสามารถนั่งดูอยู่ในโบสถ์ของเราโดยไม่ต้องมีส่วนร่วม หรือไม่ก็พูดคุยกับสมาชิก”

เมื่อถามว่าเขาเคยพบเจอความคิดเห็นแบบมีอคติจากเพื่อนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหรือไม่ พาร์กเคอร์ตอบว่า “ประสบการณ์ของผมเป็นบวกเกือบทั้งหมด แน่นอนว่าถนนมีทางขรุขระบ้าง แต่ไม่มีอะไรทำลายความเชื่อมั่นของผมได้”

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.