เดือนเมษายนปี 2015 ประธานโธมัส เอส. มอนสัน ประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (แอลดีเอส) ประกาศว่าจะมีการสร้างพระวิหารแอลดีเอสที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการประกาศสถานที่ก่อสร้างพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ศาสนจักรกำลังดำเนินงานสร้างพระวิหารทั่วโลกเพื่อให้บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้มีโอกาสรับพรพระวิหารอย่างทั่วถึง
ช่วงเวลา 150 ปีแรกหลังจากการก่อตั้งศาสนจักรตั้งแต่ปี 1830 ถึง ปี 1980 มีการสร้างพระวิหาร 21 แห่ง รวมถึงพระวิหารเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ และพระวิหารนอวู อิลลินอยส์ ปัจจุบัน มีพระวิหารเปิดดำเนินการ 155 แห่งทั่วโลก กำลังบูรณะสี่แห่ง กำลังก่อสร้าง 11 แห่ง และประกาศเพิ่มอีก 11 แห่ง
พระวิหารที่จะสร้างในกรุงเทพฯ จะเป็นพระวิหารแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระวิหารซึ่งใกล้ที่สุดอยู่ที่ฮ่องกง ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า 1,700 กิโลเมตร ปัจจุบันมีพระวิหารที่เปิดดำเนินการในญี่ปุ่น (โตเกียว ซัปโปะโระ และฟุกุโอะกะ) ฟิลิปปินส์ (มะนิลาและเกซอนซิตี) เกาหลี (โซล) และไต้หวัน (ไทเป)
แท้จริงแล้วพระวิหารคือพระนิเวศน์ของพระเจ้า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการนมัสการซึ่งคนทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้า เพราะการทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเป็นความรับผิดชอบที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จึงไม่อนุญาตให้ใครเข้าพระวิหารเพื่อรับเอ็นดาวเม้นท์หรือผนึกการแต่งงานเพื่อนิรันดรได้ จนกว่าพวกเขาจะเตรียมพร้อมโดยสมบูรณ์และเป็นสมาชิกศาสนจักรอย่างน้อยหนึ่งปี ตลอดกาลที่ผ่านมา พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้คนของพระองค์สร้างพระวิหาร
พระวิหารเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ จุดประสงค์หลักของพระวิหารคือจัดให้มีศาสนพิธีที่จำเป็นสำหรับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปอยู่กับพระองค์อีก ศาสนพิธีพระวิหารนำไปสู่พรอันประเสริฐซึ่งมีได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ทุกสิ่งในศาสนจักร—การประชุมและกิจกรรม งานเผยแผ่ศาสนา บทเรียนที่ใช้สอนและเพลงสวด—ล้วนนำไปสู่งานที่ทำในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์
ศาสนพิธีอย่างหนึ่งที่รับในพระวิหารเรียกว่าเอ็นดาวเม้นท์ คำว่าเอ็นดาวเม้นท์หมายถึง “ของประทาน” และเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง ศาสนพิธีนี้ประกอบด้วยชุดคำสอนและรวมถึงพันธสัญญาที่จะดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและทำตามข้อกำหนดต่างๆ ของพระกิตติคุณ เอ็นดาวเม้นท์เน้นความสำคัญที่พระผู้ช่วยให้รอด บทบาทของพระองค์ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์และคำมั่นสัญญาส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนที่จะปฏิบัติตามพระองค์ ศาสนพิธีพระวิหารอีกอย่างหนึ่งคือการแต่งงานซีเลสเชียล ในศาสนพิธีนี้สามีกับภรรยาผนึกกันเพื่อนิรันดร ศาสนพิธีผนึกที่ประกอบในพระวิหารจะดำเนินต่อไปตลอดกาลถ้าสามีภรรยาซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่พวกเขาทำ
บุตรธิดาที่เกิดจากบิดามารดาที่ผนึกแล้วในพระวิหารเป็นบุตรธิดาที่เกิดในพันธสัญญา บุตรธิดาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์โดยอัตโนมัติ บุตรธิดาที่ไม่ได้เกิดในพันธสัญญาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์ได้เช่นกันเมื่อบิดามารดาโดยกำเนิดหรือบิดามารดาบุญธรรมได้รับการผนึกแล้ว ศาสนพิธีผนึกบุตรธิดากับบิดามารดาจะประกอบในพระวิหาร
บรรดาผู้วายชนม์ที่ไม่ได้รับศาสนพิธีพระกิตติคุณอันสำคัญยิ่งเหล่านี้อาจรับศาสนพิธีดังกล่าวได้โดยผ่านงานที่ทำในพระวิหาร โดยกระทำในนามของบรรพชนและคนอื่นๆ ที่ล่วงลับแล้ว สมาชิกศาสนจักรจะรับบัพติศมาและการยืนยัน รับเอ็นดาวเม้นท์ และมีส่วนร่วมในการผนึกสามีกับภรรยาและผนึกบุตรธิดากับบิดามารดาแทนคนเหล่านั้น
นอกจากเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์ พระวิหารยังเป็นสถานที่แห่งสันติสุขและการเปิดเผย เป็นสถานที่ซึ่งสามารถรับการนำทางด้านวิญญาณสำหรับการตัดสินใจหรือข้อกังวลที่สำคัญอย่างยิ่ง พระเจ้าทรงอวยพรผู้มีส่วนร่วมงานศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร และพรที่พระองค์ประทานไม่ได้จำกัดเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้ในพระวิหาร ผู้ที่ทำงานพระวิหารจะได้รับพรทุกด้านของชีวิต งานที่พวกเขาทำในพระวิหารจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขาและขัดเกลาพวกเขาทางวิญญาณ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน กล่าวว่า “พรสูงสุดและสำคัญที่สุดของการเป็นสมาชิกศาสนจักรคือพรที่เราได้รับในพระวิหารของพระผู้เป็นเจ้า”
- การสร้างพระวิหารแอลดีเอสที่กรุงเทพมหานคร
- การสร้างพระวิหารแอลดีเอสที่กรุงเทพมหานคร
- การสร้างพระวิหารแอลดีเอสที่กรุงเทพมหานคร
- การสร้างพระวิหารแอลดีเอสที่กรุงเทพมหานคร
- การสร้างพระวิหารแอลดีเอสที่กรุงเทพมหานคร
1 / 2 |