หัวข้อ

การกระทำทารุณกรรมเด็ก

การกระทำทารุณกรรมเด็ก

{nb}การกระทำทารุณกรรมเด็กทำให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายและรุนแรงจนสุดพรรณนา บางทีการทำผิดลักษณะนี้อาจทำให้เราสะเทือนใจเพราะเราจำได้ว่าเป็นอย่างไรเมื่อเราอุ้มบุตรธิดาของเราครั้งแรก—ความรู้สึกท่วมท้นด้วยความรักและสัญชาตญาณลึกซึ้งที่สุดของผู้เป็นบิดามารดาที่ต้องเลี้ยงดู สอน และคุ้มครอง น่าตกใจจนแทบนึกไม่ถึงที่มีคนทำร้ายเด็ก นี่เป็นการทรยศหักหลังแบบร้ายแรงที่สุด

สังคมกำลังพร้อมใจกันลุกขึ้นถอนรากถอนโคนการกระทำทารุณกรรมเด็ก หลายต่อหลายครั้งเราเห็นทั้งชุมชนระดมกำลังค้นหาเด็กด้วยเกรงถูกลักพาตัวและถูกกระทำทารุณกรรม นี่เป็นข่าวระดับประเทศเมื่อเด็กคนหนึ่งตกอยู่ในอันตราย

แต่การกระทำทารุณกรรมเด็กไม่ได้เป็นหัวข้อรายงานข่าวระดับประเทศเสมอไป ความชั่วร้ายดังกล่าวซุ่มอยู่ในเงามืด ส่วนใหญ่มองไม่เห็น และแทบไม่มีใครพูดถึง กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ อดีตประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายประณามอย่างเปิดเผยว่าการกระทำทารุณกรรมเด็กเป็นความชั่วร้ายมหันต์ก่อนที่เรื่องนี้จะประเด็นหน้าสุดในสหรัฐด้วยซ้ำ ต้นทศวรรษ 1980 ท่านแสดงความคิดและความรู้สึกของท่านเมื่อท่านกล่าวในการถ่ายทอดการประชุมใหญ่ทั่วโลกว่า “ข้าพเจ้าดีใจที่สาธารณชนตระหนักมากขึ้นในความชั่วร้ายแอบแฝงนี้ การใช้เด็ก … สนองความพอใจตามปรารถนาของคนที่มีความสุขจากการทรมานผู้อื่นถือเป็นบาปเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่ง”

ศาสนจักรจะทำอะไรได้บ้าง ประเด็นนี้เข้าถึงแก่นหลักคำสอนของศาสนจักร เด็กเล็กๆ บริสุทธิ์ไร้เดียงสาและมีค่าในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงประสบช่วงเวลาอ่อนโยนที่สุดกับเด็กๆ และทรงสงวนคำพูดรุนแรงที่สุดไว้สำหรับคนที่กระทำทารุณกรรมเด็ก “ผู้ใดจะทำผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่งที่วางใจในเราให้หลงผิด ถ้าเอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอผู้นั้นถ่วงเสียที่ทะเลลึกก็ดีกว่า” (มัทธิว 18:6) นอกจากนี้ ครอบครัว ยังเป็นแกนกลางของศาสนจักรด้วย เด็กเข้าร่วมพิธีนมัสการกับพ่อแม่ แนวทางปฏิบัติของศาสนจักรมีคืนครอบครัวประจำสัปดาห์รวมอยู่ด้วย ซึ่งเราหยุดพักความสนใจเรื่องอื่นไว้ก่อนเพื่อสร้างสัมพันธภาพครอบครัวให้มั่นคง ในครอบครัว บิดามารดาดึงพลังจากกันเพื่อดูแลเอาใจใส่และคุ้มครองบุตรธิดาโดยจัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้บุตรธิดาได้เติบโตและพัฒนาในบรรยากาศของความรักและการสนับสนุน ศาสนจักรจัดสถานที่ประชุมให้ครอบครัวได้เลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยคุณค่าทางวิญญาณ ทั้งศาสนจักรและครอบครัวมีความสนใจสูงสุดในสวัสดิภาพของบุตรธิดา

เอกสารฉบับนี้สาธยายประเด็นของการกระทำทารุณกรรมเด็กจากมุมมองของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เรากำลังทำอะไรเพื่อขัดขวางเรื่องนี้ ศาสนจักรกำลังทำอะไรให้ผู้รับเคราะห์ มีการชำระความและการแก้ไขหรือไม่ ถ้ามี เพราะเหตุใด ศาสนจักรปฏิบัติต่อคนที่กระทำทารุณกรรมเด็กอย่างไร ประสบการณ์ของศาสนจักรนี้ต่างจากประสบการณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางโลกอื่นๆ อย่างไร และอะไรที่คล้ายคลึงกัน ในหน้าเหล่านี้จะพูดถึงคำถามดังกล่าว

การคุ้มครองเด็ก

บทบาทของศาสนจักรขณะชุมชนต่อสู้กับความชั่วร้ายของการกระทำทารุณกรรมคือเรียนรู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และแบ่งปันประสบการณ์ของเรากับคนอื่นที่มีแรงจูงใจเท่ากัน

ผู้ปฏิบัติศาสนาคือใคร

ศาสนจักรมีผู้ปฏิบัติศาสนาชั้นสมาชิกทั่วไป หัวหน้าของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเรียกว่าอธิการ อธิการได้รับเลือกจากสมาชิกในท้องที่ให้รับใช้เป็นอาสาสมัครประมาณห้าปี ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนมานานและถือว่าสมาชิกในที่ประชุมเป็นมิตรสหายและเพื่อนบ้านของพวกเขา อธิการส่วนใหญ่มีบุตรธิดาที่มักอายุยังน้อย ไปโบสถ์ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร ด้วยเหตุนี้อธิการจึงใส่ใจมากเรื่องความปลอดภัยและความผาสุกของชุมชนศาสนจักรของพวกเขา เมื่อผู้กระทำทารุณกรรมเด็กคุกคามความปลอดภัยของคนในที่ชุมชน อธิการไม่มีสิ่งจูงใจทางการเงินหรืออื่นๆ ให้ทำนอกเหนือจากคุ้มครองครอบครัวศาสนจักรของพวกเขาเหมือนคุ้มครองครอบครัวตน

อธิการไม่ได้รับเงินเดือนหรือเงินตอบแทนแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติศาสนาที่แยกตัวออกมา ไม่มีระเบียบพิเศษแบบนักบวชให้พวกเขาทำในศาสนจักร อธิการวิสุทธิชนยุคสุดท้ายอาศัยอยู่ในชุมชนและทำงานประจำเช่นเดียวกับทุกคน เพราะส่วนใหญ่พวกเขาบริหารงานตามข้อเรียกร้องของตำแหน่งอธิการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และช่วงเย็น พวกเขาจึงสามารถบริหารงานได้ก็ต่อเมื่อขอให้สมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมช่วยเท่านั้น

อธิการอาจเป็นครูสอนหนังสือ แพทย์ หรือนักธุรกิจ เพื่อเป็นการช่วยอธิการ อธิการอาจขอให้บรรณารักษ์ช่วยสอนชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ของเด็กวัยหกขวบ ขอให้เภสัชกรหญิงรับผิดชอบองค์กรของเด็กวัยสามขวบถึง 11 ขวบ การเรียกเหล่านี้เป็นการเรียกชั่วคราวและเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ แต่คาดหวังให้ทุกคนที่รับใช้ตามคำเชื้อเชิญของอธิการดำเนินชีวิตตามข้อบัญญัติในศาสนาของตน ซึ่งแก่นแท้ของศาสนาคือความเคารพครอบครัวและโดยทั่วไปรวมถึงเด็กๆ ด้วย

อะไรอยู่ในชื่อ

มีมิติสำคัญอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติศาสนกิจชั้นสมาชิกทั่วไปของศาสนจักรซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับทนายความ นักข่าว และคนที่สนใจเรื่องการกระทำทารุณกรรมเด็กพึงเข้าใจ

โดยแท้แล้วสมาชิกที่แข็งขันทุกคนของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมวิสุทธิชนยุคสุดท้ายล้วนดำรงตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างเพื่อช่วยอธิการทำงานของเขา ในกรณีของผู้ชายและเด็กหนุ่มที่มีค่าควรอายุครบ 12 ปีขึ้นไป ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของฐานะปุโรหิตของศาสนจักร เยาวชนชายอายุ 12 ปีที่มาโบสถ์เป็นประจำได้รับแต่งตั้งเป็นมัคนายก พออายุ 14 ปีเขาจะเป็นผู้สอน และ 16 ปีจะเป็นปุโรหิต ผู้ใหญ่ชายส่วนใหญ่ได้รับแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิต อย่างไรก็ดี การเพียงแต่รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตและดำรงตำแหน่งปุโรหิต เอ็ลเดอร์ หรือผู้สอนใช่ว่าเป็นการให้สิทธิอำนาจแก่บุคคลนั้นในที่ประชุมหรือตั้งเขาเป็นผู้นำ เพื่อนสมาชิกศาสนจักรของเขาไม่ต้องให้ความเคารพหรือเกรงขามเขาเป็นพิเศษแต่อย่างใด อันที่จริง ถึงแม้ชายคนหนึ่งจะเลิกติดต่อกับศาสนจักร แต่เขายังคงเป็นเอ็ลเดอร์หรือมหาปุโรหิตตราบใดที่เขาเป็นสมาชิกศาสนจักร

บางครั้งเรื่องราวในหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า “ผู้นำมอรมอนถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณกรรมเด็ก” อัยการบางคนทราบดีว่าการใช้ชื่อตำแหน่งเช่น “มหาปุโรหิต” ทำให้ดูคล้ายกับคนที่มีอำนาจมากทำผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คณะลูกขุนและผู้สื่อข่าวตกใจมาก การกล่าวอ้างในลักษณะนั้นคือการกล่าวเท็จ

การขอให้สมาชิกหยุดกระทำทารุณกรรมเด็ก

กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ กลุ่มคนที่ช่วยกันทำงานด้วยเจตคติของการสนับสนุนกัน ศาสนจักรกระตุ้นมานานให้ครอบครัวพูดคุยเกี่ยวกับการกระทำทารุณกรรมเด็ก ให้ความรู้แก่ตนเองในเรื่องที่ว่าจะรู้จักและป้องกันเรื่องเศร้าสลดเช่นนี้อย่างไร ตั้งแต่ ค.ศ. 1976 บทความในข่าวและนิตยสารกว่า 50 บทความปรากฏในสิ่งพิมพ์ศาสนจักรประณามการกระทำทารุณกรรมเด็กและให้ความรู้แก่สมาชิกในเรื่องนี้ ผู้นำศาสนจักรพูดเรื่องนี้มากกว่า 30 ครั้งที่การประชุมใหญ่ทั่วโลกของศาสนจักร การกระทำทารุณกรรมเด็กเป็นหัวข้อบทเรียนที่สอนกันเป็นประจำในช่วงการประชุมวันอาทิตย์

ศาสนจักรได้พัฒนาเนื้อหาและวีดิทัศน์การอบรมเช่นกัน เนื้อหาเหล่านี้ใช้อบรมผู้นำศาสนจักรเกี่ยวกับวิธีแยกแยะและตอบสนองการกระทำทารุณกรรมเช่นนั้น สายด่วน 24 ชั่วโมงมีผู้ให้คำปรึกษาระดับมืออาชีพคอยให้คำแนะนำ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้นำในท้องที่สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมในแต่ละกรณี

สุดท้าย ศาสนจักรกำลังทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ทุกคนและทุกสถาบันต้องทำส่วนของตน แต่สุดท้ายแล้วครอบครัวที่เข้มแข็ง รักกัน และเอาใจใส่ดูแลกันจะป้องกันการกระทำทารุณกรรมเด็กได้ดีที่สุด อดีตประธานศาสนจักร กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นและเลวร้ายกว่าเดิมเว้นแต่จะมีการยอมรับอย่างจริงจัง ความเชื่อมั่นแรงกล้าเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าครอบครัวเป็นเครื่องมือของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ เป็นงานสร้างของพระองค์ อีกทั้งเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม”

การช่วยเหลือผู้รับเคราะห์

นักวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนกล่าวหาว่าศาสนจักรพิจารณาความต้องการของผู้รับเคราะห์ไว้หลังสุด แม้ถึงกับปล่อยข่าวร้ายแรงกว่านั้นว่าศาสนจักรอาจเลี่ยงการพบกับผู้รับเคราะห์เพราะพวกเขาทำให้ผู้นำศาสนจักรอับอายขายหน้า

นักวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มองภาพหลักความเชื่อของศาสนจักรกลับด้าน การช่วยเหลือผู้รับเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก อุปนิสัยแท้จริงของชาวคริสต์คือแสดงความการุณย์รักคนที่กำลังต่อสู้กับความปวดร้าวของการกระทำทารุณกรรม เรื่องนี้สำคัญต่อการปฏิบัติศาสนกิจของเรา ภายในศาสนจักรผู้รับเคราะห์จะพบการชี้นำทางวิญญาณที่สุดท้ายแล้วนำไปสู่การเยียวยาผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ศาสนจักรจะส่งผู้รับเคราะห์จากการกระทำทารุณกรรมไปรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้วยเพื่อพวกเขาจะได้ประโยชน์จากทักษะความรู้ทางโลกที่ดีที่สุด โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะออกค่าใช้จ่ายได้หรือไม่

คู่มือคำแนะนำอย่างเป็นทางการของศาสนจักรสำหรับผู้นำระบุว่าความรับผิดชอบอันดับแรกของศาสนจักรคือช่วยคนที่ถูกกระทำทารุณกรรมและคุ้มครองคนที่อาจเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรมในอนาคต

ศาสนจักรทำเช่นนี้อย่างไร นับแต่ก่อตั้งศาสนจักรเป็นต้นมา แนวคิดหลักเรื่องครอบครัวและหลักคำสอนของศาสนจักรให้การสนับสนุนเรื่องนี้ นอกจากนี้ศาสนจักรยังมีโทรศัพท์สายด่วนในปี ค.ศ. 1995 ให้อธิการติดต่อผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพได้ทันทีเพื่อแนะนำเขาในการคุ้มครองผู้รับเคราะห์จากการกระทำทารุณกรรม อธิการเป็นคนดี แต่เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเข้าใจความซับซ้อนทั้งหมดของการกระทำทารุณกรรมเด็ก ตลอดจนข้อกำหนดของกฎหมายที่ต่างกันในแต่ละรัฐที่มีความแตกต่าง สิ่งที่พวกเขาทำได้คือโทรศัพท์สายด่วนทันทีเมื่อเด็กอยู่ในอันตราย ด้วยการโทรเพียงครั้งเดียวพวกเขาจะได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพที่มีประสบการณ์

ตัวอย่างเช่น ถ้าวัยรุ่นคนหนึ่งบอกอธิการของเธอเรื่องการกระทำทารุณกรรม เขาจะโทรสายด่วนก่อนเพื่อขอข้อมูลช่วยผู้รับเคราะห์และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำทารุณกรรมต่อไป ถ้ากรณีนี้เป็นความผิดทางอาญา อธิการจะได้รับคำแนะนำด้วยว่าจะรายงานต่อผู้มีอำนาจตามกฎหมายอย่างไร เราไม่รู้จักศาสนจักรใดที่ให้ความช่วยเหลือแบบมืออาชีพแก่ผู้ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อช่วยผู้รับเคราะห์จากการกระทำทารุณกรรมตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี

ได้ผลหรือไม่ แน่นอน แม้ไม่มีระบบใดไร้ข้อผิดพลาด แต่ผู้รับเคราะห์กำลังได้รับความคุ้มครองดูแลที่พวกเขาต้องได้รับ

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวในการสัมภาษณ์กับไมค์ วอลเลซจากรายการ 60 Minutes ทางซีบีเอสว่า “ผมเป็นห่วงผู้รับเคราะห์เหล่านี้มาก ผมเห็นใจพวกเขา ผมต้องการทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้อีก … ผมรู้ว่าไม่มีองค์กรใดในโลกนี้ประเมินได้ละเอียดถี่ถ้วนกว่า พยายามมากกว่าหรือทำมากกว่าเราเพื่อจัดการแก้ไขปัญหานี้ ทำงานกับเรื่องนี้ และทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราทราบดีถึงความน่ากลัวของปัญหา เราต้องการช่วยคนของเราให้เอื้อมมือออกไปช่วยเหลือพวกคนเหล่านั้น”

การดำเนินการกับผู้กระทำผิด

กล่าวให้ชัดเจนคือ ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่มีนโยบายยอมรับการกระทำทารุณกรรมเด็ก เมื่อสงสัยว่ามีการกระทำทารุณกรรม ศาสนจักรจะให้สมาชิกติดต่อกับผู้มีอำนาจตามกฎหมายก่อน จากนั้นจึงติดต่ออธิการในท้องที่เพื่อให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ ศาสนจักรร่วมมือเต็มที่กับการใช้กฎหมายสืบสวนในกรณีของการกระทำทารุณกรรมเด็กและนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย

สมาชิกศาสนจักรที่ทำความผิดฐานกระทำทารุณกรรมเด็กต้องได้รับโทษตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “เราเห็นใจผู้กระทำผิด แต่เราไม่สามารถทนรับบาปที่เขากระทำได้ ที่ใดมีการกระทำผิด ย่อมมีการลงโทษ” ผู้กระทำทารุณกรรมเด็กที่ศาลตัดสินว่าผิดจริงจะถูกปัพพาชนียกรรม ซึ่งเป็นโทษสูงสุดที่ศาสนาของเราจะดำเนินการได้ สมาชิกที่ถูกปัพพาชนียกรรมไม่สามารถมีส่วนร่วมในการประชุมต่างๆ ของศาสนจักรหรือดำรงตำแหน่งความรับผิดชอบใดๆ ในที่ประชุมได้

ผู้กระทำทารุณกรรมเด็กที่ได้รับโทษตามกฎหมายเพราะความผิดของพวกเขาแล้วและผ่านขั้นตอนการกลับใจอย่างเข้มงวดกับผู้นำศาสนจักรในท้องที่จะกลับเป็นสมาชิกศาสนจักรได้อีกหรือไม่ คำตอบคือได้ ในฐานะชาวคริสต์ เราเชื่อในการให้อภัย แต่ในชีวิตนี้พวกเขาสามารถรับใช้ในตำแหน่งที่จะให้พวกเขาติดต่อโดยตรงกับเด็กได้อีกหรือไม่ ไม่ได้แน่นอน การให้อภัยไม่ได้ขจัดผลของบาป การคุ้มครองครอบครัวเป็นหลักธรรมข้อแรกของศาสนจักร

ตั้งแต่ ค.ศ. 1995 ศาสนจักรได้ใส่หมายเหตุคำอธิบายอันไม่พึงเปิดเผยไว้ในบันทึกสมาชิกภาพของสมาชิกที่เคยกระทำทารุณกรรมเด็ก บันทึกเหล่านี้ติดตามพวกเขาไปยังที่ประชุมทุกแห่งที่พวกเขาย้ายไป การทำเช่นนี้เป็นการเตือนให้อธิการทราบว่าอย่าให้บุคคลเหล่านั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเด็ก เท่าที่เราทราบ ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นสถาบันศาสนาแห่งแรกที่สร้างกลไกการติดตามเช่นนั้น เรารักษาครอบครัวให้ศักดิ์สิทธิ์และคุ้มครองเด็กๆ ในครอบครัว สิ่งนี้อธิบายว่าเหตุใดศาสนจักรจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่นิกายที่กำหนดบทลงโทษกับคนที่เป็นเพียงสมาชิก (เหมือนกับที่ลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติศาสนา) ตามวินัยศาสนาสำหรับการกระทำทารุณกรรมทางเพศ

ศาสนจักรเราใช้ระบบติดตามนี้เนื่องด้วยความเชื่อหลักๆ ของเรา ไม่มีศาลใดในสหรัฐให้สถาบันศาสนารับรับผิดชอบต่อการไม่คุ้มครองสมาชิกของตนให้รอดพ้นจากการกระทำทารุณกรรมโดยสมาชิกคนอื่นๆ การทำเช่นนี้จะเปลี่ยนสถาบันศาสนาเป็นเครื่องมือของตำรวจ เปลี่ยนผู้นำศาสนาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ศาสนจักรอาสาติดตามสมาชิกไม่ใช่เพราะกฎหมายหรือกลัวการฟ้องร้องคดี แต่เกิดจากความห่วงใยครอบครัวและเด็กอย่างแท้จริง

ข้อผูกมัดให้แจ้งความ

ข้อใหญ่ใจความของข้อถกเถียงทางกฎหมายมากมายคือมีการแจ้งความเกี่ยวกับการกระทำทารุณกรรมที่อาจเกิดขึ้นหรือผู้กระทำทารุณกรรมหรือไม่และเมื่อใด เจ้าหน้าที่ศาสนจักรทำตามกฎหมายประจำรัฐว่าจะแจ้งความเรื่องการกระทำทารุณกรรมเด็กต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเมื่อใดและอย่างไร

ประเด็นศีลธรรมที่ยากกว่านั้นคืออธิการควรแจ้งข้อมูลการกระทำทารุณกรรมต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือไม่เมื่อเขาได้รับข้อมูลจากการสารภาพส่วนตัวในตำแหน่งหน้าที่ตามสิทธิ์ของเขา นอกเหนือจากประเด็นยุ่งยากทางศาสนาแล้ว บางนิกายและผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าการบังคับผู้ปฏิบัติศาสนาให้แจ้งความการสารภาพส่วนตัวอาจทำให้ผู้กระทำทารุณกรรมเด็กไม่อยากออกมาขอความช่วยเหลือ พวกเขาอาจจะกระทำทารุณกรรมต่อไป หลายคนโต้แย้งว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็วเนื่องด้วยมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำ ไม่มีมติมหาชนเกี่ยวกับประเด็นยุ่งยากนี้

ความซับซ้อนของปัญหาสะท้อนอยู่ในความหลากหลายของกฎหมายการแจ้งความในแต่ละรัฐ ยี่สิบสามรัฐมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ปฏิบัติศาสนาแจ้งความก็ต่อเมื่อข้อมูลไม่ใช่การสารภาพต่อผู้นำศาสนา ตัวอย่างเช่น ในรัฐเหล่านี้ผู้ปฏิบัติศาสนาที่ทราบเรื่องการกระทำทารุณกรรมในการสื่อสารลับเฉพาะ เช่นการสารภาพ ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ปฏิบัติศาสนาที่เห็นการกระทำทารุณกรรมด้วยตนเองหรือมีเหตุให้สงสัยว่าเกิดการกระทำทารุณกรรมจะต้องแจ้งความ ในอีกเก้ารัฐ ผู้ปฏิบัติศาสนามีหน้าที่ต้องแจ้งความการกระทำทารุณกรรมเด็กไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ในอีก 18 รัฐที่เหลือและในดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย กฎหมายการแจ้งความไม่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติศาสนาแจ้งความการกระทำทารุณกรรมเด็กเลย

อธิการในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับการสอนว่าพวกเขามีความรับผิดชอบเบื้องต้นสองประการเมื่อทราบเรื่องการกระทำทารุณกรรมเด็ก หนึ่ง ต้องคุ้มครองผู้รับเคราะห์ สอง ต้องให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบการกระทำของตน แม้ในรัฐที่การรักษาความลับของการสารภาพห้ามผู้ปฏิบัติศาสนาแจ้งความ แต่อธิการต้องทำสุดความสามารถเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำทารุณกรรมต่อไปอีก เขาต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อโน้มน้าวผู้กระทำทารุณกรรมให้รับผิดชอบการกระทำของตน รวมถึงการไปพบเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กรณีที่ชายคนหนึ่งไปพบอธิการของเขาเพื่อสารภาพทำให้เป็นไปได้ว่าผู้นำศาสนจักรที่เขาเคารพสามารถชักจูงเขาให้ทำสิ่งที่ถูกต้องได้

เมื่อคดีไปถึงศาล

ศาสนจักรเคยขึ้นศาลในคดีกระทำทารุณกรรมเด็กหรือไม่ คำตอบคือ เคย ศาสนจักรเคยสะสางคดีต่างๆ เพียงไม่กี่คดีตลอดสิบปีที่ผ่านมาตามมูลฟ้อง ในทุกคดีศาสนจักรให้คำปรึกษาแก่ผู้รับเคราะห์

อย่างไรก็ดี การกระทำทารุณกรรมเด็กไม่เพียงเป็นปัญหาสำหรับศาสนจักรเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสังคมเช่นกัน และเช่นเดียวกับสังคมส่วนใหญ่ ความเข้าใจของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกี่ยวกับความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องลึกซึ้งมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เมื่อการกระทำทารุณกรรมเด็กเริ่มเป็นปัญหาร้ายแรง นับจากนั้น ศาสนจักรต้องเผชิญกับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ศาสนจักรทำอย่างไรเพื่อคุ้มครองเด็กในศาสนจักรและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้กระทำผิด แต่ยังคงปกป้องตนเองในศาลเมื่อข้อกล่าวหากำลังชักนำให้เข้าใจผิดและเมื่อคดีไม่มีมูล

ในความพยายามทำให้คณะลูกขุนเห็นชอบ ทนายบางคนถึงขั้นกล่าวหาว่าศาสนจักรจงใจให้ที่พักพิงแก่ผู้กระทำทารุณกรรมเด็ก ข้อกล่าวหาเช่นนั้นเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับผู้นำและสมาชิกศาสนจักรและไม่มีมูลเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย การประกาศว่าผู้นำศาสนจักรให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้กระทำทารุณกรรมท่ามกลางพวกเขาโดยทำให้เด็กๆ ตกอยู่ในอันตรายถือว่าขัดต่อเหตุผล

เราพึงเข้าใจทัศนะในเรื่องนี้ หลายนิกายในสหรัฐถูกฟ้องคดีกระทำทารุณกรรมเด็กหลายร้อยคดีทุกปี ถึงแม้หนึ่งคดีก็มากเกินพอแล้ว แต่ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยังถือว่าถูกฟ้องค่อนข้างน้อย —ต่ำเกินคาดเมื่อเทียบกับสมาชิกในสหรัฐมากกว่าหกล้านคน เหตุผลประการหนึ่งสำหรับเรื่องนี้คือศาสนจักรพยายามแก้ไขปัญหาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คดีส่วนใหญ่ในทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับการกระทำทารุณกรรมที่เกิดขึ้นก่อนศาสนจักรใช้นโยบายและโปรแกรมอบรมปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญยิ่งอีกประเด็นหนึ่งสมควรเน้น คดีกระทำทารุณกรรมของผู้ปฏิบัติศาสนาที่เกิดขึ้นบ่อยมากทั่วประเทศในปี 2002 เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาว่านิกายต่างๆ ปกป้องพวกพระและบาทหลวงที่กระทำทารุณกรรม ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่เคยถูกฟ้องว่าอธิการของศาสนจักรกระทำทารุณกรรม แต่คดีที่เกิดขึ้นกับศาสนจักรพัวพันกับสมาชิกคนหนึ่งที่กระทำทารุณกรรมอีกคนหนึ่ง บ่อยครั้งการกระทำทารุณกรรมที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณทรัพย์สินของศาสนจักรหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของศาสนจักรเลย

ดังนั้น ในคดีเหล่านี้ ศาสนจักรจะปกป้องตนเองไม่ใช่เพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องปกปิด แต่เพราะศาสนจักรมีสิ่งล้ำค่าบางอย่างให้คุ้มครอง—นั่นคือเด็กๆ

พระคำของพระผู้เป็นเจ้าต่อศาสนจักร

บทความต่อไปนี้คัดลอกมาจากคำปราศรัยกับสมาชิกศาสนจักรทั่วโลก โดยประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ จากซอลท์เลคซิตี้ เมษายน 2002

“การกระทำทารุณกรรมเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มีหลักฐานชี้ชัดว่าเกิดขึ้นทุกยุคสมัย นี่เป็นเรื่องเลวทรามต่ำช้า น่าสลดใจ และน่ากลัว ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจที่มีความชั่วร้ายน่าชิงชังลักษณะนี้ปะปนอยู่ในหมู่พวกเรา นี่เป็นเรื่องที่เราจะยอมรับหรือยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ พระเจ้าพระองค์เองตรัสว่า ‘แต่ผู้ใดจะทำผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่งที่วางใจในเราให้หลงผิด ถ้าเอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอผู้นั้นถ่วงเสียที่ทะเลลึกก็ดีกว่า’ (มัทธิว 18:6)

“นั่นเป็นพระดำรัสที่รุนแรงมากจากเจ้าชายแห่งสันติ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

“ข้าพเจ้าอ้างจากคู่มือคำแนะนำของศาสนจักร ‘จุดยืนของศาสนจักรคือการกระทำทารุณกรรมไม่เป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ผู้ที่กระทำทารุณกรรม … จะต้องได้รับโทษตามวินัยศาสนจักร พวกเขาไม่ควรได้รับการเรียกจากศาสนจักรและอาจไม่มีใบรับรองพระวิหาร แม้ว่าบุคคลที่กระทำทารุณกรรมเด็กทางเพศหรือทางร่างกายได้รับโทษตามวินัยศาสนจักรแล้ว และต่อมาได้รับการฟื้นฟูพรเพื่อรับสิทธิ์โดยสมบูรณ์หรือกลับเข้ามาใหม่โดยบัพติศมา ผู้นำไม่ควรเรียกบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งใดที่ทำงานกับเด็กหรือเยาวชนจนกว่าฝ่ายประธานสูงสุดจะอนุมัติให้ลบหมายเหตุคำอธิบายในบันทึกสมาชิกภาพของบุคคลนั้น”

‘ในกรณีของการกระทำทารุณกรรม ความรับผิดชอบอันดับแรกของศาสนจักรคือช่วยคนที่ถูกกระทำทารุณกรรมและคุ้มครองคนที่อาจเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรมในอนาคต’

“เราแก้ไขปัญหานี้มานานมากแล้ว เราได้กระตุ้นอธิการ ประธานสเตค และคนอื่นๆ ให้เอื้อมออกไปช่วยผู้รับเคราะห์ ปลอบโยนพวกเขา ให้กำลังใจพวกเขา ให้พวกเขารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ประสบการณ์นั้นไม่ใช่ความผิดของพวกเขา และต้องไม่เกิดขึ้นอีก

“เราเคยออกสิ่งพิมพ์ ตั้งสายโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ศาสนจักรได้รับคำแนะนำในการจัดการคดี และให้ความช่วยเหลือแบบมืออาชีพผ่านหน่วยบริการให้คำปรึกษาครอบครัวแอลดีเอส

“การกระทำเช่นนี้มักเป็นคดีอาญา พวกเขาต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ศาสนจักรมีที่ปรึกษาระดับมืออาชีพ รวมไปถึงทนายความและนักสังคมสงเคราะห์คอยรับโทรศัพท์สายด่วนเพื่อแนะนำอธิการและประธานสเตคเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของพวกเขาในสภาวการณ์เหล่านี้ ผู้อยู่ในประเทศอื่นควรโทรถึงประธานภาคของตน

“งานของศาสนจักรคืองานแห่งความรอด ข้าพเจ้าต้องการย้ำเรื่องนี้ เป็นงานแห่งการช่วยจิตวิญญาณให้รอด เราปรารถนาจะช่วยทั้งผู้รับเคราะห์และผู้กระทำผิด เราเห็นใจผู้รับเคราะห์ และเราต้องดำเนินการช่วยเหลือ เราเห็นใจผู้กระทำผิด แต่เราไม่สามารถยอมรับบาปที่เขากระทำได้ ที่ใดมีการกระทำผิด ย่อมมีการลงโทษ กระบวนการของกฎหมายบ้านเมืองจะดำเนินไปตามครรลอง และกระบวนการของผู้นำทางศาสนาจะดำเนินไปตามครรลองเช่นกัน ซึ่งบ่อยครั้งส่งผลให้ต้องปัพพาชนียกรรม นี่เป็นเรื่องที่ทั้งละเอียดอ่อนและร้ายแรง

“อย่างไรก็ดี เราตระหนักและต้องตระหนักเสมอว่า เมื่อการลงโทษสิ้นสุดและข้อเรียกร้องของความยุติธรรมได้รับการตอบสนองแล้ว จะต้องมีมือเอื้อมออกไปช่วยเหลือด้วยความเมตตา อาจจะยังมีข้อข้อจำกัด แต่จะมีความเมตตาเช่นกัน”

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.