หัวข้อ

การฉ้อฉลโดยอาศัยความสัมพันธ์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา นิยามการฉ้อฉลโดยอาศัยความสัมพันธ์ดังนี้

การฉ้อฉลโดยอาศัยความสัมพันธ์หมายถึงการฉ้อโกงเงินลงทุนที่เหยื่อคือสมาชิกของกลุ่มที่มีหน่วยสังกัด เช่น ชุมชนศาสนาหรือเชื้อชาติ ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอาชีพ คนฉ้อฉลที่ส่งเสริมการฉ้อโกงโดยอาศัยความสัมพันธ์มักเป็น—หรือทำทีว่าเป็น—สมาชิกของกลุ่มนั้น บุคคลเหล่านี้มักขอให้ผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาที่คนเคารพนับถือภายในกลุ่มช่วยแพร่คำพูดเกี่ยวกับอุบายหลอกลวงโดยทำให้คนเหล่านั้นเชื่อว่าการลงทุนในลักษณะฉ้อฉลนั้นถูกกฎหมายและคุ้มค่า หลายครั้งผู้นำเหล่านั้นหลงกลผู้ฉ้อฉลโดยไม่รู้ตัว

การฉ้อโกงเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจและมิตรภาพในกลุ่มของผู้มีบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน เพราะโครงสร้างอันเหนียวแน่นของหลายกลุ่ม ผู้ตั้งกฎหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎจึงจับการฉ้อโกงโดยอาศัยความสัมพันธ์ได้ยาก เหยื่อมักไม่แจ้งความกับผู้มีอำนาจหรือดำเนินการแก้ไขตามกฎหมาย แต่กลับพยายามแก้ไขกันเองในกลุ่ม เรื่องนี้เป็นจริงอย่างยิ่งเมื่อผู้ฉ้อฉลใช้ผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาที่คนเคารพนับถือโน้มน้าวผู้อื่นให้ร่วมลงทุน

สมาชิกบางคนของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเคยตกเป็นเหยื่อการฉ้อฉลแบบนี้มาแล้ว เช่นเดียวกับสมาชิกของศาสนาอื่นและชุมชนที่สนิทสนมกัน สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับการสอนให้ซื่อสัตย์ในการติดต่อกับผู้อื่น และคนทำผิดฐานกระทำการฉ้อโกงเหล่านี้จะถูกลงโทษขั้นรุนแรงสุดเท่าที่ศาสนจักรจะดำเนินการได้ รวมถึงปัพพาชนียกรรม เพราะคนไม่ซื่อสัตย์บางคนเคยใช้การฉ้อฉลโดยอาศัยความสัมพันธ์เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มศาสนาของตนตกเป็นเหยื่อ ผู้นำศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงเตือนสมาชิกศาสนจักรอย่างตรงไปตรงมาและบ่อยครั้งให้ระวังการฉ้อโกงลักษณะนี้

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายออกจดหมายให้อ่านในที่ประชุมทุกแห่งของมอรมอนในสหรัฐและแคนาดา มีใจความดังนี้

รายงานเกี่ยวกับอุบายการฉ้อฉลและการลงทุนอย่างไม่ฉลาดกระตุ้นเราให้แนะนำสมาชิกด้วยความเคารพอีกครั้งเกี่ยวกับความรอบคอบในการบริหารการเงิน

เราเป็นห่วงที่สมาชิกศาสนจักรบางคนเพิกเฉยคำแนะนำซึ่งย้ำบ่อยครั้งให้เตรียมและดำเนินชีวิตตามงบประมาณ หลีกเลี่ยงหนี้ผู้บริโภค และเก็บออมไว้ยามขาดแคลน สิ่งที่ควรพิจารณาคือการลงทุนอย่างฉลาดกับสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้และมั่นคง เราเป็นห่วงเช่นกันที่มีคนใช้สัมพันธภาพของความไว้วางใจส่งเสริมการลงทุนที่มีความเสี่ยงหรือแม้ฉ้อฉลและอุบายทางธุรกิจ

แม้การลงทุนทุกอย่างมีปัจจัยเสี่ยง แต่ความเสี่ยงนั้นสามารถจัดการได้โดยทำตามหลักการเงินที่ดีและได้รับการพิสูจน์มาแล้ว นั่นคือ หนึ่ง หลีกเลี่ยงหนี้ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ผู้บริโภค สอง ก่อนลงทุนให้ขอคำแนะนำจากผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินที่มีคุณวุฒิและมีใบอนุญาต และสาม จงฉลาด

เรากระตุ้นผู้นำให้สอนและเน้นย้ำหลักธรรมเหล่านี้เป็นประจำ

นอกจากนี้ ผู้นำศาสนจักรในการประชุมอื่นๆ อันรวมถึงกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมในท้องที่ ได้เตือนสมาชิกศาสนจักรอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับอันตรายของการลงทุนที่มีความเสี่ยงและการฉ้อฉล ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างถ้อยแถลงจากผู้นำศาสนจักรในอดีตเกี่ยวกับเรื่องนี้

โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน, “หนี้สินทางโลก หนี้สินทางวิญญาณ,” เลียโฮนาพ.ค. 2004, 53.
บ่อยครั้งเราได้ยินเรื่องราวความละโมบและความเห็นแก่ตัวที่ทำให้เราเศร้าเสียใจมาก เราได้ยินเรื่องการฉ้อฉล การผิดสัญญาชำระหนี้เงินกู้ การหลอกลวงทางการเงิน และการล้มละลาย … เราคือผู้คนที่มีความสุจริต เราเชื่อในการชำระหนี้และซื่อสัตย์ในการติดต่อกับเพื่อนมนุษย์ของเรา

โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน, “Personal Integrity,” Ensign, พ.ค. 1990, 30
เราได้รับพระวิญญาณของพระคริสต์แล้วเพื่อรู้ความดีจากความชั่ว ด้วยเหตุนี้เราจึงควรเลือกความดีเสมอ เราต้องไม่หลงผิด ถึงแม้การฉ้อฉล การหลอกลวง การล่อลวง และการต้มตุ๋นมักดูเหมือนเป็นเรื่องยอมรับได้ในโลกก็ตาม การโป้ปด การลักขโมย และการคดโกงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ความสุจริต การยืดมั่นมาตรฐานสูงสุดทางศีลธรรมและจริยธรรม ถือว่าจำเป็นต่อชีวิตของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์

เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “Keeping Life’s Demands in Balance,” Ensign, พ.ค. 1987, 13
“ไม่มีทางลัดสู่ความมั่นคงทางการเงิน อย่าวางใจมอบเงินของท่านให้ผู้อื่นโดยไม่ประเมินการลงทุนที่เสนออย่างละเอียดถี่ถ้วน คนของเราเสียเงินมากมายเหลือเกินก็เพราะวางใจมอบสินทรัพย์ให้ผู้อื่น ในความเห็นของข้าพเจ้า เราจะไม่มีดุลยภาพในชีวิตเลยเว้นแต่เราจะควบคุมการเงินของเราให้ดี”

ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Brother’s Keeper,” Ensign, พ.ย. 1986, 20
รูปแบบการลักขโมยที่ดูเหมือนซับซ้อนกว่าคือการฉ้อฉล ซึ่งตักตวงผลประโยชน์โดยโป้ปดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเป็นในการทำธุรกรรม ผู้ส่งเสริมที่มีเล่ห์เหลี่ยมจะใช้ลิ้นลมคมคายและท่าทีประจบเอาใจหลอกเพื่อนบ้านเข้าสู่การลงทุนที่เขารู้ว่าเสี่ยงเกินกว่าคนเหล่านั้นจะกล้าเปิดเผย ความยากของการพิสูจน์ทำให้การฉ้อฉลเป็นความผิดทางอาญาที่ดำเนินการทางกฎหมายได้ยาก แต่ความหย่อนยานของกฎมนุษย์ไม่ได้อนุญาตให้ล่วงละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า แม้วิธีลักขโมยของพวกเขาอาจได้รับการเว้นโทษในชีวิตนี้ แต่ขโมยเหลี่ยมจัดในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวผูกเน็กไทจะถูกเปิดโปงในที่สุดและได้รับโทษตามที่พวกเขาเป็น”

มาร์วิน เจ. แอชตัน} “Be of Good Cheer,” Ensign, พ.ค. 1986, 66
ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันขอร้องเราอย่างตรงไปตรงมาให้หลีกเลี่ยงแผน “รวยทางลัด” ถ้าเราอยากเลี่ยงความปวดร้าวใจของพันธะการเงิน บางทีเราอาจจะยังพูดไม่พอเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเรามากมายเหลือเกินหว่านเมล็ดแห่งภัยเศรษฐกิจในช่วงที่เราฝันอยากเป็นใหญ่ หลังจากนั้นในวันต่อมาเมื่อสูญเสียมากเราก็โทษคนที่ร่วมมือกับเรา เราคงรื่นเริงได้ยากเมื่อการหลอกลวงตนเองอยู่คู่กับตัวเรา เมื่อเรายอมปะทะลมพายุของการฉ้อฉลและอุบายเราก็ไม่ควรประหลาดใจเมื่อเราป่วยด้วยโรคขาดดุล ตลอดหลายปีของการรับฟังคนที่ทุกข์ใจกับการสูญเสียเงินทองมากมาย ข้าพเจ้าได้ยินหลายคนประกาศด้วยความสิ้นหวังว่า “ผมมันโง่” บ่อยครั้งที่ใจข้าพเจ้า ความคิด และพระวิญญาณกระตุ้นข้าพเจ้าให้บอกว่า “ใช่ คุณทำตัวคุณเอง” เราทุกคนต้องได้รับการกระตุ้นให้เงยหน้าดูว่าความนึกคิดของเราและลำดับความสำคัญที่เก็บงำไว้กำลังพาเราไปที่ใด การหลอกตนเองทำให้เราโทษคนอื่นเมื่อเราล้มเหลว

เจมส์ อี. เฟสท์, “Integrity, the Mother of Many Virtues,” Ensign, พ.ค. 1982, 47
ผลของความอุตสาหะและความมัธยัสถ์อาจสมควรรวมอยู่ในการลงทุนที่มั่นคง การลงทุนที่แน่นหนาเทียบได้กับการตรากตรำงานหนักหลายปี และมีความเสี่ยงบ้างในทั้งหมดที่เราทำ แต่การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเสริมด้วยสัญญาลวงโลกคลุมเครือเรื่องผลตอบแทนที่มากเกินควรน่าจะเป็นเรื่องที่เราพึงพิจารณาให้ถ้วนถี่ ผู้นำศาสนจักรเตือนมานานเรื่องการเก็งกำไร บริคัม ยังก์กล่าวว่า “สมมติว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยเรื่องหนึ่งต่อข้าพเจ้า พระองค์คงจะแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นว่าเอ็ลเดอร์แห่งอิสราเอลต้องไม่เข้าไปยุ่งกับการเก็งกำไรแต่ตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่การเรียกของพวกเขา

ในสมัยของเรา ประธานนาธาน เอ็ลดอน แทนเนอร์กล่าวว่า “เราควรมีหลักค้ำประกันหนี้การลงทุนทั้งนี้เพื่อจะไม่ทำลายความมั่นคงของครอบครัว อย่าลงทุนกับธุรกิจที่เสี่ยงต่อการขาดทุน ความรู้สึกอยากเก็งกำไรอาจน่าตื่นเต้นจนถอนตัวไม่ขึ้น ทรัพย์สมบัติมากมายมลายหายไปสิ้นเพราะความอยากมีอยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนควบคุมไม่อยู่ ขอให้เราเรียนรู้จากความเศร้าเสียใจในอดีตและอย่าทำให้เวลา พลังงาน และสุขภาพโดยรวมของเราตกเป็นทาสของความละโมบอยากได้สิ่งของทางโลกเพิ่มขึ้น”

มาร์วิน เจ. แอชตัน, “This Is No Harm,” Ensign, พ.ค. 1982, 9
คำโป้ปดสื่อได้ดีโดยไม่ต้องพูดคำใดออกมา บางครั้งการพยักหน้าหรือไม่พูดอะไรก็หลอกได้แล้ว การแนะนำให้ลงทุนทำธุรกิจที่น่าสงสัย ป้อนข้อมูลเท็จในบัญชีแยกประเภท เสแสร้งใช้คำยกยอปอปั้น หรือไม่เผยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องทั้งหมดเป็นวิธีสื่อคำโป้ปดอีกแบบหนึ่ง

จงหลีกเลี่ยงคนที่ต้องการให้เราตัดสินใจทันทีหรือจ่ายเงินสดเดี๋ยวนั้น โอกาสการลงทุนที่คุ้มค่าทั้งหมดต้องมีการพิจารณาให้ถ้วนถี่และตรวจสอบอย่างละเอียด เราต้องได้ข้อมูลทั้งหมดและพิจารณาให้ดี แล้วจึงตัดสินใจอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย เมื่อเกิดกรณีและสถานการณ์น่าสงสัย ความสุจริตส่วนตัวต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจ เมื่อการกระทำที่ถูกต้องไม่ปรากฏชัด ความซื่อสัตย์ส่วนตัวจะทำให้เราวินิจฉัยออกและเผยประเด็นหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งคนอื่นอาจไม่รู้ บุคคลที่มีความสุจริตจะช่วยให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ บุคคลที่มีความสุจริตจะถามคำถามและให้คำตอบที่ถูกต้อง ความสุจริตทำให้เรากำหนดวิถีความประพฤติชอบไว้ได้นานก่อนถึงเวลาลงมือปฏิบัติ

คนฉลาดจะไม่ยอมให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของคนไม่มีหลักศีลธรรมเนื่องด้วยความทะนงตัว บ่อยครั้งคนถูกต้มตุ๋นเพราะความทะนงตัวทำให้เขาไม่ยอมสอบถามและหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะกลัวขายหน้าหรือถูกคิดว่าโง่ บ่อยครั้งผู้คิดจะซื้อจึงมักพยักหน้าตอบรับทั้งที่ไม่เข้าใจคำพูดหว่านล้อมของผู้ขายคารมคมคาย “นี่หมายความว่าอย่างไร” “อะไรคือความเสี่ยง” “อะไรคือหลุมพราง” “บริษัทมีประวัติความเป็นมาอย่างไร” “คุณมีเอกสารอ้างอิงอะไรบ้าง” เหล่านี้คือคำถามที่ควรหาคำตอบ เมื่อผู้ส่งเสริมใช้คำพูดง่ายๆ แบบสุกเอาเผากินแต่เข้าใจยาก ผู้ซื้อต้องระวังให้มากขึ้น

ถ้าไม่สามารถตัดสินใจให้รอบคอบบนพื้นฐานความรู้ความชำนาญของตน เขาควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาซึ่งมีความรู้และไว้ใจได้ ข้อเสนอที่รอให้ทบทวนตรวจสอบไม่ได้ย่อมไม่คุ้มค่า

“Protecting Family Finances by Avoiding Fraud,” Ensign, มิ.ย. 2008
(ดูบทความทั้งหมดที่ลิงก์ด้านบน)
{nb}

คำเตือนในอดีตเหล่านี้จากผู้นำศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้ข่าวสารที่ชัดเจนแก่สมาชิกว่าอันตรายของการฉ้อฉลโดยอาศัยความสัมพันธ์มีอยู่จริง ผู้นำทั่วโลกของศาสนจักรพูดซ้ำบ่อยครั้งและกล่าวย้ำคำตักเตือนนี้ในระดับท้องที่ ทั้งการสอนในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมและการให้คำแนะนำเป็นส่วนตัวและแก่ครอบครัวโดยผู้นำชั้นสมาชิกทั่วไป

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.