ข่าวเผยแพร่

เสรีภาพทางศาสนาปกป้องเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาหรือไม่

 
             
 ดัดแปลงจากบทความใน Mormon Newsrooms เรื่องเสรีภาพทางศาสนาระหว่างประเทศ

การค้นหาความจริง ปรารถนาจะรู้ความหมาย และแสวงหาอุตรภาพ (สภาวะเหนือความเข้าใจของมนุษย์) ไม่ได้เป็นของศาสนา วัฒนธรรม หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเจตจำนงทั่วไปของมนุษย์ทุกคน บุคคลหนึ่งไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาเพื่อจะมีศีลธรรม และบุคคลหนึ่งไม่จำเป็นต้องนิยมเรื่องทางโลกเพื่อจะเป็นคนช่างคิด พวกเขาใช้พื้นที่สาธารณะแห่งเดียวกันและต้องการสิทธิ์เดียวกันในการแสดงออกถึงความเชื่อของตน เสรีภาพทางศาสนาควรปกป้องทุกคนที่เอาใจใส่ต่อเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดและควรส่งเสริมผลประโยชน์ของส่วนรวม

                                 

สังคมมนุษย์มีมิติแห่งศีลธรรมซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธรรมชาติของกฎ การพาณิชย์ การศึกษา และความสัมพันธ์งอกเงยมากจากสมมติฐานที่เรามีว่าอะไรถูกอะไรผิด ค่านิยมทางสังคมได้รับอิทธิพลจากแหล่งต่างๆ มากมาย — ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา วิทยาศาสตร์ — แต่ประเพณีทางศีลธรรมและทางศาสนามีบทบาทสำคัญ ผู้คนที่นับถือศาสนาและผู้คนที่นิยมเรื่องทางโลกต่างได้รับผลประโยชน์จากความสำเร็จของอีกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องมองศรัทธาและเหตุผลว่าเป็นสิ่งตรงกันข้าม

                             

 ด้วยการปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ การทับซ้อนกันอย่างกว้างขวางระหว่างเสรีภาพทางศาสนากับสิทธิอื่นๆ ของพลเมืองจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ ตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการพูด ในการรายงานข่าว การชุมนุมและคบหาสมาคมมีความหมายมากขึ้นเมื่อได้รับการค้ำจุนด้วยอิสรภาพในการนับถือศาสนา แม้ว่ามโนธรรม จริยธรรม และสิทธิมนุษยชนมักจะเกี่ยวข้องกับค่านิยมทางโลก กระนั้นก็ยังอยู่ภายใต้ร่มเงาของเสรีภาพทางศาสนา ในวิธีนี้คนที่นิยมเรื่องทางโลกและคนที่นับถือศาสนาจึงเป็นญาติสนิทกัน

                            เบรทท์ ชาร์ฟส์ นักนิติศาสตร์เรียกเสรีภาพทางศาสนาว่า “รากแก้วของต้นไม้แห่งสิทธิมนุษยชน” ฐานรากลึกที่บำรุงเลี้ยงราก กิ่งก้าน และใบของเสรีภาพอื่นๆ

เสรีภาพทางศาสนาสามารถสร้างความเสถียรให้แก่โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ ศาสนาและฆราวาสนิยมต่างเติบโตและถดถอยในเวลาเดียวกัน

  • เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ศูนย์กลางของศาสนาคริสต์อยู่ที่ยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ขณะนี้ได้ย้ายไปอยู่ซีกโลกใต้
  • ชาวคริสต์ในลาตินอเมริกาและแอฟริกามีถึงหนึ่งพันล้านคน
  • ชาวคริสต์ในเอเชียมี 350 ล้านคนและคาดว่าจะเพิ่มถึง 460 ล้านคนในปี 2025
  • ความเชื่อและอัตลักษณ์ของศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ฟื้นคืนขึ้นใหม่ในหลายส่วนของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในระหว่าง 25 ปีที่ผ่านมา
  • อิสลามเป็นศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
  • คนนับถือศาสนาฮินดูทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 34 เปอร์เซ็นต์จนเกือบถึง 1,400 ล้านคนในปี 2050 เมื่อนั้น อินเดียจะมีคนนับถือศาสนาฮินดูและอิสลามมากที่สุดในโลก
                          เมื่อคิดถึงภาพรวมนี้ ศาสนาไม่ได้ถดถอยลง

กระนั้นก็ตาม สังคมในยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และส่วนอื่นๆ ของโลกกำลังนิยมเรื่องทางโลกมากขึ้น ปัจจุบันนี้คนที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดศาสนาใดแต่เน้นเรื่องทางวิญญาณเป็นกลุ่มคนนับถือศาสนาที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองในอเมริกาเหนือและเกือบทุกภูมิภาคในยุโรป ในสหรัฐ ประชากรเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดศาสนาใด และองค์กรภาครัฐระหว่างประเทศทั้งหลายของโลกลงมติตามจริยธรรมทางโลก ไม่ใช่สิทธิอำนาจทางศาสนา

 แนวโน้มที่หลากหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพหุนิยมกำลังเพิ่มขึ้น และทั้งศาสนาและฆราวาสนิยมต่างมีบทบาทของตน ทั้งสองฝ่ายนี้ไม่จำเป็นต้องหักล้างกัน วิธีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันมากมายทำให้โลกเราซับซ้อน แต่ยังสามารถสร้างเสริมโลกเราได้ด้วยเช่นกัน ความท้าทายที่เราเผชิญคือการเรียนรู้วิธีให้พื้นที่แก่ความเชื่อของคนอื่นโดยไม่เสียสละความเชื่อของตนเอง

เสรีภาพอันเอื้อเฟื้อของหัวใจและความนึกคิดเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างเรื่องทางศาสนาและเรื่องทางโลก

          

หมายเหตุแนวทางการเขียน:เมื่อรายงานเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โปรดใช้ชื่อเต็มของศาสนจักรในการอ้างถึงครั้งแรก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชื่อของศาสนจักร ไปที่ออนไลน์แนวทางการเขียน.